ดร.อนุชิต มือปั้นพร้อมเพย์ เปิดตัว “โฟร์เกิ้ล” แอปใหม่สู่สังคมดิจิทัล

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล
สัมภาษณ์

จากหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาระบบ “พร้อมเพย์” ขึ้นมาเป็นระบบชำระเงินของประเทศไทยที่แพร่หลายในปัจจุบัน ล่าสุด “ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล” ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้ร่วมกับผู้ที่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีและการเงิน ทั้งในประเทศและซิลิคอนวัลเลย์ ก่อตั้ง “บริษัท โฟร์เกิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพสัญชาติไทยขึ้นมา

“โฟร์เกิ้ล” ตีโจทย์สังคมดิจิทัล

“ดร.อนุชิต” เล่าว่า ได้จัดตั้งโฟร์เกิ้ล (ประเทศไทย) ขึ้นมา ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านดอลลาร์ หรือราว 30 ล้านบาท และมีมูลค่าบริษัทราว 400 ล้านบาท ซึ่งก่อนจัดตั้งบริษัท ได้ร่วมกับเพื่อนพัฒนาระบบมากว่า 4 ปี โดยสำรวจพฤติกรรมของคนไทย พบว่ามีการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กสูง แต่การค้นหาข้อมูลหรือจัดการข้อมูลยังไม่เป็นระบบ จึงเป็นที่มาของ “โฟร์เกิ้ล” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ผู้ใช้สามารถสร้างคอมมิวนิตี้ที่ตัวเองสนใจ แลกเปลี่ยนข้อมูล และติดตามบุคคลที่ชื่นชอบ หรือสนใจในเรื่องเดียวกันได้ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ในเชิงลึก

โดยแอปจะรวบรวมเรื่องราวในรูปแบบหมวดหมู่ ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น คือ โฟร์เกิ้ล เป็นตัวอย่างของเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ sharing economy เพื่อให้ทุกคนร่วมเป็นเจ้าของได้ โดยเป็นแอปที่รวบรวมข้อมูล 4 มิติ ได้แก่ คน สถานที่ เวลา และกิจกรรม เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ตลอดจนกระตุ้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องในคอมมิวนิตี้นั้น ๆ เน้นฟีเจอร์การใช้งานที่ทำได้ง่าย ซึ่งรูปแบบแอปไม่ได้แตกต่างจากคนอื่นที่มีในตลาด เพราะเราอยากให้คนใช้คุ้นเคย”

เปิดตัวแอปเดือน ต.ค.นี้

ทั้งนี้ แอป “โฟร์เกิ้ล” จะเปิดตัวภายในเดือน ต.ค.นี้ ระยะแรก จะเริ่มต้นจากคอมมิวนิตี้ “อาหาร” และ “ไลฟ์สไตล์” ก่อน โดยร่วมมือกับพันธมิตรร้านค้าในย่านราชประสงค์ รายใหญ่ และรายเล็ก เช่น เกสรพลาซ่า อัมรินทร์พลาซ่า เป็นต้น โดยสามารถค้นหาร้านอาหารที่ต้องการได้สะดวก ภายใต้ชื่อ “CookKlick” หรือ “คุกคลิก” ที่สามารถแลกเปลี่ยน การแบ่งปันไอเดีย ความรู้ และสูตรการทำอาหารระหว่างกันได้ด้วย

จากนั้น ในระยะถัดไปจะขยายไปยังหมวดต่าง ๆ และ prime area อื่นต่อเนื่อง เช่น ในต้นปี 2566 บริษัทมีแผนจะขยายไปยังหมวดไลฟ์สไตล์ผ่านการร่วมมือพันธมิตรเพิ่มเติม เช่น การตกแต่งบ้าน แหล่งรวมสถาปนิก แฟชั่น การท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้จะทยอยเข้ามาอยู่ใน community content platform ของ “โฟร์เกิ้ล” ตามความสนใจของคนไทยและกลุ่ม New Gen

ตั้งเป้าปีแรกคนใช้งาน 1 ล้านคน

ซึ่งบริษัทตั้งเป้าผู้ใช้ “โฟร์เกิ้ล” หมวดร้านอาหารภายในสิ้นปีนี้อยู่ที่ประมาณ 2-3 แสนคน และภายใน 1 ปี หลังเปิดตัวจะมีผู้ใช้เป็น 1 ล้านคน

“เราจดทะเบียนในไทยและสิงคโปร์ มีทีมงานพัฒนาระบบ 20 คน ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี เราต้องการสร้างคอมมิวนิตี้ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศ และเปิดกว้าง ตอนนี้
อยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตรอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ 1 ราย ที่ให้ความสนใจลงทุน”

ระบบชำระเงินไทยไปได้อีกไกล

นอกจากนี้ ในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาระบบพร้อมเพย์มา “ดร.อนุชิต” ให้มุมมองว่า ตอนนี้ในมุมมิติการใช้งานระบบชำระเงินดิจิทัลของคนไทย ถือว่าทำได้ระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องของฟังก์ชั่นต่อยอดระบบ ยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก ตามแผนพัฒนาระบบการชำระเงิน โดยเฉพาะฟังก์ชั่นที่เชื่อมโยงกับนิติบุคคล การค้า และต่างชาติ

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน มีด้วยกัน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.payment 2.ID ที่ผ่านมา พร้อมเพย์มีการใช้เฉพาะ ID ที่เป็นหมายเลขโทรศัพท์มือถือและเลขประจำตัวประชาชน แต่จริง ๆ แล้ว ยังสามารถใช้ ID อื่น ๆ ได้อีก เช่น อีเมล์ ตัวอย่างคือ หากจะสั่งของ ก็ไม่ต้องเขียนที่อยู่ ระบุแค่อีเมล์ ระบบจะเชื่อมไป location ID และ post ID ที่ลิงก์กับ NDID สามารถรับสินค้าได้เลย

3.logistic ระบบขนส่งที่ปัจจุบันมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 4.network และ security ที่เริ่มวางระบบไปบ้างแล้ว 5.data bureau

“ไทยต้องก้าวสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ แต่ยังมีแค่ NCB (บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด) แห่งเดียวเทียบกับ data ที่มีค่อนข้างมาก ในอนาคตจะต้องพัฒนาข้อมูลเหล่านี้ โดยเริ่มจากว่าเราต้องการแก้ปัญหาอะไรที่ไทยเผชิญอยู่ เช่น คนแก่ คนจน คนด้อยการศึกษา ปัญหาความเหลื่อมล้ำ”

และ 6.trade การค้า เช่น อาลีบาบา ที่หาคนผลิต คนซื้อ คนขาย มาเจอกันจนเป็นอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ หนุนเศรษฐกิจจีนเติบโต

“ในเรื่องของข้อมูล ถ้าดูสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง เขาเก็บข้อมูลเด็กทุกคนตั้งแต่เกิด ซึ่งเขาสามารถรู้ว่าในจำนวนเด็กทั้งหมด มีเด็กเก่งกี่คน จะเป็นหมอกี่คน ไอทีกี่คน ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถจัดการด้านศึกษาให้ตรง เราก็สามารถนำข้อมูลมาใช้และแก้ปัญหาได้”

“ดร.อนุชิต” กล่าวอีกว่า ระบบการชำระเงินของไทย ต้องยอมรับว่ามาไกลจากอดีตค่อนข้างมาก เปรียบเหมือน “wake-up call” ที่อยู่ ๆ ธนาคารก็ลุกขึ้นมาลงทุนพร้อมกันหมด ภายใต้นโยบายภาครัฐที่เดินถูกทางและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ก่อให้เกิดการแข่งขัน แต่ก็ยังมีเรื่องที่สามารถทำได้อีก เช่น ฐานข้อมูล (data) ที่กองทิ้งไว้จำนวนมาก สามารถนำมาใช้ได้ โดยทุกฝ่ายต้องระดมสมองว่าจะหยิบส่วนใดนำมาใช้อะไรได้บ้าง

หรือมิติ payment system สามารถเปิดได้ลึกขึ้น อาทิ open banking ที่ดำเนินการไปแล้วภายใต้ NDID มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการเดินบัญชี statement การเปิดบัญชีกองทุน-ประกัน การขอสินเชื่อ เป็นต้น


“เราถือว่ามาไกล แต่เราสามารถไปไกลได้กว่านี้ โดยสิ่งที่เรามี แต่ใช้ไม่เยอะ คือ data ซึ่งถึงเวลาที่ต้องระดมสมองกันว่าจะหยิบตรงไหนมาใช้ได้บ้าง ต่อยอดจากที่เราทำมาดีแล้ว เชื่อว่ายังสามารถขยายไปในส่วนอื่น ๆ ได้อีก โดยเฉพาะนิติบุคคล เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ และในที่สุดจะกลายเป็น ecosystem การเงินไทย” ดร.อนุชิตกล่าวทิ้งท้าย