คปภ.ฟัน 5 บริษัทประกันฝ่าฝืนกฎหมาย สินมั่นคง-พุทธธรรม จ่ายหลักล้าน

คปภ.ส่งทีมตรวจสอบบริษัทประกัน หลังเลิกจ้างพนักงาน-ส่อปิดกิจการ

คปภ.ฟัน 5 บริษัทประกันฝ่าฝืนกฎหมาย สินมั่นคง จ่ายกว่า 1.03 ล้านบาท ปรับรายวันละ 1,500 บาท ด้าน พุทธธรรม อ่วมค่าปรับ 1.27 ล้านบาท 

วันที่ 30 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ลงประกาศล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2565 พบว่า มีบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตรวม 5 ราย ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

สินมั่นคงฯ จ่ายกว่า 1 ล้าน รายวันละ 1,500 บาท

1.บริษัท สินมั่นคง ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กระทำการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง เป็นความผิดตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ข้อ 3 (5) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 346,000 บาท โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

นอกจากนี้กระทำการจัดสรรเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองสำหรับค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่น ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค. 2565 เป็นความผิดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดสรรเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ เงินสำรองสำหรับค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2554 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

และกระทำการจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2564 ถึงเดือน ก.ค. 2565 เป็นความผิดตามมาตรา 27/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่องการจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย และการฝากสินทรัพย์ไว้กับสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89/1 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ อีกจำนวน 604,500 บาท เนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถจัดสรรเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองสำหรับค่าสินไหมทดแทนและเงินสำรองอื่นตามมาตรา 23 ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เสนอให้เปรียบเทียบปรับรายวันวันละ 1,500 บาท โดยให้ชำระค่าปรับทุก 30 วัน จนกว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จ

นอกจากนั้นพบว่าสินมั่นคงประกันภัย ยังกระทำการบันทึกรายการในสมุดทะเบียนค่าสินไหมทดแทน (ทบ.3) ของบริษัท เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นเงินอีก 25,380 บาท โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

และยังกระทำการยื่นรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการของบริษัท (XML) ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รายไตรมาสที่ 1/2565 เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่องให้บริษัทประกันวินาศภัยยื่นรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการของบริษัท พ.ศ. 2559 ข้อ 4 และข้อ 7 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

กระทำการเสนอรายงานการดำรงเงินกองทุน (RBC) ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รายไตรมาสที่ 1/2565 เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดตามมาตรา 27/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2564 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 10 มีบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

และกระทำการยื่นงบการเงินรายไตรมาสที่ 1/2565 ที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการจัดทำและยื่นงบการเงิน

และรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 ข้อ 6 และข้อ 7 และประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการจัดทำและยื่นงบการเงิน และรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ข้อ 3 และข้อ 4 มีบทลงโทษตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นเงินอีก 61,570 บาท

LMG ถูกปรับ 1.25 หมื่นบาท

2.บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่กระทำการออกเอกสารหรือหลักฐานรับรองความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเป็นความผิดตามมาตรา 37 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 ข้อ 8 (1) (ก) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน จำนวน 12,500 บาท โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

KWI ต้องจ่าย 1.25 แสนบาท

3.บริษัท คิงไวประกันภัย จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เคดับบลิวไอประกันภัย จำกัด (มหาชน) กระทำการจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด ในเดือน ต.ค. 2564 เป็นความผิดตามมาตรา 27/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่อง การจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย และการฝากสินทรัพย์ไว้กับสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89/1 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน จำนวน 125,000 บาท โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

พุทธธรรมฯ อ่วมจ่ายค่าปรับ 1.27 ล้าน

4.บริษัท พุทธธรรมประกันภัย จำกัด (มหาชน) กระทำการรับประกันภัยโดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยเกินกว่า 10% ของเงินกองทุน เป็นความผิดตามมาตรา 31 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

และกระทำการขยายธุรกิจในระหว่างดำเนินการตามโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนตามมาตรา 27/5 เป็นความผิดตามมาตรา 27/6 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89/1 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,015,000 บาท โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

นอกจากนี้กระทำการบันทึกรายการในสมุดทะเบียนค่าสินไหมทดแทน (ทบ.3) ของบริษัท เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการให้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 49,670 บาท โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

นอกจากนั้น กระทำการบันทึกรายการรับประกันภัยในสมุดทะเบียนการรับประกันภัยของบริษัท (ทบ.1) เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นความผิดตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไข เพิ่มเติม มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คณะกรรมการเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 205,890 บาท โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ

เอไอเอ โดนปรับ 2.5 หมื่นบาท

5.บริษัท เอไอเอ จำกัด กระทำการแจ้งผลการพิจารณาเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นความผิดตามมาตรา 38 (12) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศ คปภ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2559 ข้อ 8 (3) มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน โดยอยู่ระหว่างการบังคับชำระค่าปรับ จำนวน 25,000 บาท