แบงก์ทยอยปิดสาขา ‘พรูเด็นเชียล’ ไม่กังวลกระทบยอดขายประกัน

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ
นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

เทรนด์แบงก์ทยอยปิดสาขา “พรูเด็นเชียลประกันชีวิต” ไม่กังวลกระทบยอดขายประกันชีวิต มั่นใจทุกแบงก์มีการทรานส์ฟอร์มตัวเอง ปรับตัวใกล้ชิดลูกค้า ในรูปแบบให้บริการเข้าถึงตัวลูกค้า-ดิจิทัลเพิ่มขึ้น มั่นใจไตรมาส 2 ปีนี้ผลประกอบการโตดีต่อเนื่อง

วันที่ 2 มิถุนายน 2566 นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แม้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความท้าทาย แต่ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1 ปี 2566 (ม.ค.-มี.ค.)

บริษัทยังคงรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง มีการเติบโตต่อเนื่องของเบี้ยประกันภัยรับปีแรก (FYP) อยู่ที่ 1,984 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) คิดเป็นการเติบโตที่เร็วกว่าตลาดถึง 2.3 เท่า โดยยืนอยู่ในอันดับ 6 ของอุตสาหกรรมฯ

โดยช่องขายหลักคือ ช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์ (Bancassurance) ที่มีพันธมิตรหลักคือธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีเบี้ยประกันเติบโต 28% YOY เช่นเดียวกับตลาดเบี้ยโต 28% ซึ่งถือเป็นปีที่ช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์เติบโตค่อนข้างร้อนแรง โดยบริษัทยืนอยู่ในอันดับ 3 ของอุตสาหกรรม

ขณะที่ช่องทางดิจิทัล มีเบี้ยประกันโตเร็วกว่าตลาดถึง 3 เท่า หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1,336% YOY ขณะที่ตลาดเบี้ยโต 86% โดยบริษัทยืนอยู่ในอันดับ 1 ของตลาด สะท้อนแบรนดิ้งที่เข้ามามีความสำคัญทำให้ลูกค้ากล้าตัดสินใจซื้อประกันชีวิตผ่านออนไลน์ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น

ถัดมาคือช่องทางการจัดจำหน่ายแบบตรงและแนะนำผลิตภัณฑ์ทางโทรศัพท์ (Directmarketing/Telemarketing) มีเบี้ยประกันเติบโต 21% ยืนอยู่ในอันดับ 4 ในขณะที่ตลาดเบี้ยโต 6% และช่องทางตัวแทน ซึ่งยังเป็นน้องเล็กของตลาดอยู่ในอันดับ 14 ซึ่งช่วงต้นปีสามารถรีครูตตัวแทนใหม่ได้ค่อนข้างดี มีเบี้ยประกันเติบโต 73% ในขณะที่ตลาดเบี้ยโต 2%

“เชื่อมั่นว่าช่องทางตัวแทนจะต้องโตขึ้นแน่นอน เพราะพรูเด็นเชียลทั่วโลกค่อนข้างเข้มแข็งในแง่ของช่องทางตัวแทน ทั้งนี้สำหรับช่วงไตรมาสแรกปีนี้เราสามารถเพิ่มฐานลูกค้าใหม่เข้ามาได้จำนวน 1.5 แสนราย ทำให้ปัจจุบันมีฐานลูกค้าอยู่ทั้งหมด 1.93 ล้านราย” นายบัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มผลประกอบการช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ แม้ว่าจะมีความท้าทายจากช่วงวันหยุดที่มีค่อนข้างมาก แต่ผลงานเบี้ยประกันยังคงเติบโตได้ดีอยู่ แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลเชิงตัวเลขได้

อย่างไรก็ตามถ้าดำเนินการด้วยพื้นฐานที่ดี ไม่มีเรื่องต้องกังวล มีแต่สเต็ปต่อไปจะทำอะไรมากกว่า เพราะการขึ้น ๆ ลง ๆ ของตลาด ทุกคนล้วนมีผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน ฉะนั้นถ้าเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ไม่กระทบกระเทือนพรูเด็นเชียลฯแน่นอน

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับเทรนด์ของเบี้ยประกันผ่านแบงก์แอสชัวรันซ์จะหดตัวลงตามทิศทางของที่แบงก์เริ่มทยอยปิดสาขานั้น มองว่าการปิดสาขาแน่นอนว่ามีผลต่อเบี้ยประกัน แต่เชื่อว่าทุกแบงก์จะมีการทรานส์ฟอร์มตัวเอง

โดยสิ่งที่เห็นทางพาร์ตเนอร์ TTB คือการทรานส์ฟอร์มไปดูแลลูกค้าถึงบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการให้บริการเข้าถึงตัวลูกค้าเลยหรือในรูปแบบดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยหนึ่งในยอดขายดิจิทัลที่สูงขึ้นจากยอดขายผ่านช่องทางแบงก์แอสชัวรันซ์อีกด้วย

สะท้อนว่าบริษัทและ TTB จะดูแลลูกค้าหรือนำเสนอสินค้าประกันผ่านดิจิทัลจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าต้องปรับไปตามกลไกของสังคม แต่ที่ไม่เปลี่ยนแน่ ๆ คือความต้องการสินค้าประกันไม่ได้ลดลง เพราะคนไทยมีเงินเพิ่มขึ้น จีดีพีไทยอยู่ในแดนบวก นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง แต่บริษัทจะต้องหาทางเข้าถึงลูกค้าให้ได้ดีขึ้น

“ผมเชื่อสิ่งที่ทุกแบงก์กำลังทรานส์ฟอร์ม แต่ใครจะทรานส์ฟอร์มได้เร็วกว่าดีกว่ามากกว่า เพราะความต้องการของลูกค้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ในยุคใหม่ความต้องการของลูกค้าสูงขึ้น เช่น เรื่องประกันสุขภาพ ในอดีตอาจจะเป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก แต่วันนี้ทุกคนเริ่มเหมือนประกันรถยนต์ ออกจากบ้านไม่ได้ถ้าไม่มี เพราะทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าค่ารักษาพยาบาลทำให้เงินออมของทุกคนหายไปมาก”

“ฉะนั้นประกันสุขภาพไม่ใช่แค่การประกันสุขภาพ แต่เป็นการบริหารความเสี่ยงทางด้านทรัพย์สินไปในตัวด้วย ฉะนั้นบริษัทประกันและแบงก์จะต้องปรับตัวใกล้ชิดกับลูกค้าได้มากขึ้น” นายบัณฑิตกล่าว