แบงก์เดินหน้า “ขึ้นดอกเบี้ย” ต้นทุนธุรกิจพุ่ง-กู้บ้านจ่ายแพง

ขึ้นดอกเบี้ย

แบงก์เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตาม กนง. “กรุงเทพ” นำร่องปรับทั้ง 2 ขา ดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อยแตะ 7.05% ต่อปี “กสิกรฯ-EXIM-ธ.ก.ส.” ขยับตาม “ทีทีบี”  รอดูตลาด-คู่แข่ง ยอมรับลูกหนี้กู้ซื้อบ้านต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้รอบนี้แบงก์ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เหตุเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง EIC เผย 2 กลุ่มเจอผลกระทบเหตุเศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่วถึง สมาคมอาคารชุดชี้แบงก์เข้มปล่อยกู้ดีเวลอปเปอร์เผยรายกลาง-รายเล็กลำบาก แนะเบรกลงทุน นายกฯจัดสรรเผยดอกเบี้ยขาขึ้น ผสมโรงต้นทุนพลังงาน สวนทางกำลังซื้อชะลอ

แบงก์ระวังกระทบลูกหนี้

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุด (31 พ.ค.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2.0% และแม้ว่า กนง.จะส่งสัญญาณว่ายังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อไป แต่การประชุมรอบต่อไป (เดือน ส.ค.) คาดว่า กนง.จะต้องรอดูและประเมินเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าก่อน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนอยู่มาก อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มเศรษฐกิจออกมาดี การท่องเที่ยวขยายตัวดีกว่าคาด กนง.ก็สามารถขึ้นดอกเบี้ยต่อได้

“การเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อยังเป็นไปได้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่สถานการณ์ต่าง ๆ ต้องลงตัวมาก ๆ ตอนนี้ กนง.คงไม่อยากส่งสัญญาณว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป” ดร.เชาว์กล่าว

ดร.เชาว์กล่าวว่า รอบนี้แบงก์คงจะต้องคำนึงถึงการทำธุรกิจของลูกค้า ความต้องการสินเชื่อ และภาวะเศรษฐกิจ ที่ตอนนี้ภาคการส่งออกแย่กว่าคาด เพราะเศรษฐกิจต่างประเทศชะลอตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ไม่ดี มีแค่ภาคการท่องเที่ยวที่ดี นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล เรื่องนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่ยังรอความชัดเจน

“การส่งผ่านนโยบายการเงินรอบนี้ แบงก์อาจจะต้องชั่งน้ำหนักพิจารณาเรื่องสภาพคล่อง ต้องวิเคราะห์กันว่า เป็นโอกาสที่แบงก์จะขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นกับความเสี่ยงด้านเครดิต และคำนึงถึงการทำธุรกิจของลูกค้าว่าเป็นอย่างไร และต้องเป็นการขึ้น 2 ขาเพื่อให้สมดุลกัน” ดร.เชาว์กล่าว

“แบงก์กรุงเทพ” นำร่องขึ้นดอกเบี้ย 2 ขา

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพนำร่องประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป โดยระบุว่าปรับตามคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่อง

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับขึ้น 0.05-0.25% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับขึ้น 0.20% โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาขยับขึ้นเป็น 6.85% ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชีขยับเป็น 7.30% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีเป็น 7.05% ต่อปี

“กสิกรไทย” ขยับตาม มีผล 6 มิ.ย. 66

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ขยับตามมาติด ๆ โดยนายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล 0.05% – 0.25% เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้ลูกค้าสามารถรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจได้อย่างราบรื่น

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อให้สอดรับกับการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารจึงได้ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้น 0.20% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) และ อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.02% 7.34% และ 7.05% ต่อปี ตามลำดับโดยให้มีผลในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

EXIM bank ขึ้น Prime Rate อีก 0.25%

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี จาก 6.25% ต่อปี เป็น 6.50% ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป

ธ.ก.ส. ปรับทั้งเงินฝาก-เงินกู้ตาม กนง.-ภาวะตลาด

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ ร้อยละ 1.75 ต่อปีมาอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 และเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตลาด ธ.ก.ส. จึงได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินฝาก ร้อยละ 0.05 – 0.50 ต่อปี เพื่อส่งเสริมการออมและเพิ่มผลตอบแทนให้สอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนของธนาคาร พาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs)

ขณะเดียวกันได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ร้อยละ 0.10 – 0.25 ต่อปีประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายคนชั้นดี (MRR) จากร้อยละ 6.875 ปรับขึ้น 0.10% เป็นร้อยละ 6.975 ต่อปี อัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันและนิติบุคคลชั้นดี(MLR) จากร้อยละ 5.375 ปรับขึ้น 0.250 % เป็นร้อยละ 5.625 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยประเภทเงินเบิกเกินบัญชี(MOR) จากร้อยละ 6.750 ปรับขึ้น 0.125 % เป็นร้อยละ 6.875 ต่อปี  โดยมีผล ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

“ทีทีบี” จ่อขยับ-รอดูทิศทางคู่แข่ง

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยหลังจาก กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เป็น 2% ต่อปี อย่างไรก็ดี การปรับดอกเบี้ยของแบงก์ไม่จำเป็นต้องรีบปรับตาม กนง.ในทันที โดยจะต้องมีการพิจารณาให้รอบด้าน และเชื่อว่าธนาคารทั้งระบบอยู่ระหว่างการพิจารณาเช่นกัน

“เราต้องดูทิศทางตลาด ดูซ้ายดูขวา ดูเพื่อน ดูคู่แข่ง และดูการแข่งขันในตลาด และดูทั้ง 2 ขา เพราะเงินฝากก็เป็นการแข่งขัน แต่เงินกู้ก็ต้องดูให้สมดุล”

การปรับดอกเบี้ยคงต้องปรับทั้ง 2 ขา ทั้งฝั่งเงินกู้และเงินฝาก โดยดูให้รอบคอบและสมดุล เนื่องจากแต่ละธนาคารจะมีโครงสร้างสินเชื่อและเงินฝากแตกต่างกัน ทำให้การปรับจะไม่เหมือนกัน เช่น ทีทีบีมีเงินฝากหลายประเภท ทั้งเงินฝากประจำ เงินฝากดิจิทัล และเงินฝาก No Fixed เป็นต้น เชื่อว่ายังคงไม่ได้เห็นการรีบปรับดอกเบี้ยของธนาคารในตอนนี้

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังจำเป็นต้องดูแลกลุ่มเปราะบางด้วย เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากนัก รวมถึงต้องดูเรื่องแข่งขันในตลาดด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาคู่แข่ง เพราะหากธนาคารปรับขึ้นเงินฝากมากเกินไป จะทำให้ธนาคารมีต้นทุนการเงินสูงขึ้น และจะกระทบต่อไปยังผู้กู้ได้

นายปิติยอมรับว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบกับลูกค้าผู้กู้รายใหม่ที่จะมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้กู้ซื้อบ้าน สะท้อนจากยอดขายที่อยู่อาศัยปรับลดลงตามทิศทางดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ ขณะที่ในส่วนของผู้กู้รายเดิม ส่วนใหญ่กว่า 99% ยอดผ่อนชำระรายเดือนไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ลูกค้าจะต้องผ่อนชำระนานขึ้น เช่น จากเดิมผ่อนเงินต้น 5,000 บาท และดอกเบี้ย 5,000 บาท ยอดผ่อนดอกเบี้ยอาจจะเหลือ 4,500 บาท ทำให้ระยะเวลาการผ่อนจะนานขึ้น เพราะค่างวดตัดดอกเบี้ยน้อยลง เป็นต้น

SCB จับตา ดอกเบี้ยขึ้นต่อ

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมาแล้ว 8-9 เดือน โดยธนาคารพาณิชย์ก็ทยอยปรับขึ้นให้สอดคล้องกับการส่งสัญญาณของดอกเบี้ยนโยบาย

โดยอีไอซีประเมินว่า กนง.จะยังคงปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องไปจนถึงระดับ 2.50% ในไตรมาส 3 ปีนี้ (จากปัจจุบัน 2.00%ต่อปี) เพื่อปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี สาเหตุการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเข้าสู่ระดับปกติ หรืออย่างน้อยต้องมากกว่าศูนย์ เพื่อสร้างเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจระยะยาว

เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังติดลบต่อเนื่อง ซึ่งการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำเกินไป จะก่อให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ และเป็นการสะสมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว

ต้นทุนเพิ่ม แต่ เศรษฐกิจฟื้นไม่ทั่ว

ดร.สมประวิณกล่าวว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ภาระการผ่อนชำระหนี้ปรับเพิ่มขึ้นภายใต้เศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยสามารถแยกกลุ่มที่กระทบเป็น 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวเลย และมีปัญหาเชิงโครงสร้าง จะต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเฉพาะจุดมากขึ้น เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืน เพราะต้องยอมรับว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นนโยบายมหภาค เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาพรวม

และ 2.กลุ่มที่ฟื้นตัวช้า รายได้ไม่พอรายจ่าย กลุ่มนี้จะต้องใช้เวลาและให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม ผ่านมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีมาตรการถึงสิ้นปี 2566 เข้ามาช่วยประคองกลุ่มนี้ให้มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ไม่ให้กลายเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล)

“หลัง กนง.ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว สะท้อนการส่งผ่านต้นทุนไปแล้ว เพื่อชะลอความร้อนแรงของอุปสงค์ในระยะยาว แต่แน่นอนการปรับดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มต้นทุนการเงินของระบบ และภายใต้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เท่าเทียม มีกลุ่มเปราะบางและกลุ่มฟื้นตัวช้า เราจึงจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ และเป็นการช่วยเหลือเฉพาะจุดให้กลุ่มเหล่านี้มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ิ

แนะบริษัทเล็กเบรกคอนโดฯ

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นที่แบงก์พาณิชย์เริ่มขึ้นดอกเบี้ยล้อไปตามดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.รอบล่าสุดนั้น สำหรับผลกระทบต่อต้นทุนการเงินภาคผู้ประกอบการกรณี “สินเชื่อพรีไฟแนนซ์” มองว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะดีเวลอปเปอร์รายใหญ่รับได้กับต้นทุนการกู้เงินพัฒนาโครงการที่จะเพิ่มอีก 0.25-0.50% เนื่องจากดีมานด์ในฝั่งผู้ซื้อยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังเป็นโอกาสในการลงทุน

อย่างไรก็ดในส่วนของบริษัทรายกลาง-รายเล็ก พบว่าแบงก์มีการคัดกรองเข้มงวดสูงมากในการปล่อยสินเชื่อพรีไฟแนนซ์ ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมมีความเข้มงวดสูงกว่าการปล่อยกู้โครงการบ้านแนวราบ

“พรีไฟแนนซ์แบงก์คัดกรองเยอะมากอยู่แล้ว การปล่อยกู้คอนโดฯ ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย อสังหาฯ ต่างจังหวัดแทบไม่ได้เลย ในกรุงเทพฯ ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียง จากการพูดคุยในวงการ บริษัทรายกลางอาจจะได้ (สินเชื่อ) บ้าง แต่รายเล็กไม่ได้เลย”

นายพีระพงศ์กล่าวว่า ข้อแนะนำคือ เทรนด์ครึ่งปีหลังปัจจัยบวกไม่ได้มีมากพอที่รายกลาง-รายเล็กจะต้องรีบขึ้นโครงการ อาจรอประเมินทิศทางให้รัดกุมก่อนลงทุนจริง เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าดีเวลอปเปอร์รายใหญ่เปิดตัวคอนโดฯ ใหม่จำนวนน้อย อาจมีออริจิ้นฯ กับอีก 2-3 บริษัทที่ยังลงทุน แต่ภาพรวมส่วนใหญ่จะชะลอโครงการ

“ออริจิ้นเราเหลือสต๊อกคอนโดฯ 10,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนครึ่งเดียวของค่าเฉลี่ยที่เราโอนคอนโดฯ ปีละ 20,000 ล้าน ดังนั้น เราจึงไม่ได้กังวลกับการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ เพราะอย่างที่บอกว่าน่าจะไม่ขึ้นแล้ว หรือถ้าจะขึ้นก็ไม่เกิน 1 สลึง” นายพีระพงศ์กล่าว

งัดโปรช่วยผ่อนอุ้มลูกค้า

นายพีระพงศ์กล่าวว่า ในฝั่งลูกค้า ผลกระทบต่อผู้กู้รายย่อยหรือโพสต์ไฟแนนซ์ ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่ง แต่พฤติกรรมการซื้อบ้านเป็นเรื่องระยะยาว มีอายุการผ่อน 20-30 ปี

ซึ่งคนกู้ไม่ได้มองปัจจัยดอกเบี้ยอย่างเดียว แต่การตัดสินใจที่มีน้ำหนักที่มากกว่ามาจากความจำเป็นในการซื้อที่อยู่อาศัย เช่น แต่งงาน มีลูก ฯลฯ ซึ่งเป็นอีเวนต์สำคัญในชีวิต ดังนั้น เวลาดอกเบี้ยขึ้นอาจทำให้คนกู้ได้วงเงินน้อยลงและมีผลกระทบบ้าง

กลยุทธ์รับมือของดีเวลอปเปอร์ เท่าที่มีการใช้กันบ่อย ๆ จะออกมาในรูปแบบโปรโมชั่นช่วยผ่อน เช่น ช่วยผ่อนล้านละ 1,000 บาท อาจจะ 1-3 ปี เฉพาะในส่วนที่มีภาระเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เป็นต้น

ขึ้น ดบ.ผสมโรงต้นทุนพลังงาน

ขณะที่นายวสันต์ เคียงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดอกเบี้ยขึ้น 25 สตางค์มีผลกระทบบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยน่ากังวล

โดยผลกระทบผู้บริโภคอสังหาฯ ค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยขึ้น 1% มีผลกระทบต่องวดผ่อนสินเชื่อบ้านเพิ่ม 6% ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ย 25 สตางค์ หรือขึ้น 1 ใน 4 ผลกระทบต่องวดผ่อนก็กระทบแค่ 1 ใน 4 หรือเพิ่มขึ้น 1.5% จึงไม่น่าห่วง หรือไม่น่าส่งผลต่อมู้ดผู้บริโภคมากนัก

“กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 25 สตางค์ แล้วแบงก์เริ่มปรับดอกเบี้ยขึ้น 20 สตางค์ มองว่าแบงก์พาณิชย์ขึ้นตามอยู่แล้ว ดอกเบี้ยก็เหมือนน้ำมัน เวลาขึ้นก็ขึ้นเร็ว แต่เวลาลงก็ลงช้า”

นายวสันต์ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มครึ่งปีหลัง 2566 ข้อน่ากังวลไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยขึ้น แต่มีแฟกเตอร์อื่นที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคต้องปรับตัวมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยับขึ้นไป สวนทางกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลงโดยปริยาย ค่าพลังงานทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมันยังสูง มีผลต่อการนำไปคำนวณสินเชื่อทั้งสิ้น

การปรับตัวของดีเวลอปเปอร์ ในภาพใหญ่แนวโน้มถ้ายังไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ ๆ เข้ามา คิดว่ายังคงทำธุรกิจได้ตามปกติ หลักคิดพื้นฐานต้องประเมินดีมานด์-ซัพพลายให้แม่น ตรงไหนซัพพลายล้นอย่าไปลงทุนเพราะต้องเหนื่อยแข่งขันด้านราคา

ขณะที่โซนกรุงเทพฯ-ปริมณฑลได้เปรียบมากกว่าต่างจังหวัด เพราะมีเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐกำลังก่อสร้าง ทำให้ภาคอสังหาฯ มีการกระจายทำเลได้มากขึ้น มีจุดขายได้มากขึ้น

“ดอกเบี้ยขึ้นรอบนี้ ผลกระทบผู้ประกอบการยังไปต่อได้ แต่ต้องทำ feasibility ให้แม่น ตรงไหนที่ซัพพลายต่ำกว่าดีมานด์ก็สามารถลงทุนได้ แต่ตรงไหนโอเวอร์ซัพพลายอย่าเพิ่งไปทำเพิ่ม ส่วนลูกค้าอสังหาฯ การซื้อที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัย 4 ดังนั้น ดอกเบี้ยขึ้น 25 สตางค์คิดว่าไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก” นายวสันต์กล่าว