ธปท.ถกแบงก์ อุ้ม “ลูกหนี้บ้าน” ดอกเบี้ยท่วมค่างวด-ยืดผ่อน

ดอกเบี้ยบ้านขึ้น

ธปท.เรียกแบงก์ถกช่วยลูกค้าสินเชื่อบ้าน เจอภาระดอกเบี้ยขาขึ้น หวั่นหนี้เสียพุ่ง หลังเห็นสัญญาณ NPL ไตรมาสแรกขยับ “กรุงศรีฯ” เตรียมแผนรองรับลูกค้าผ่อนไม่ไหว ประเมินผู้กู้ ปี’63-64 มีโอกาสดอกเบี้ยท่วมค่างวด “ซีไอเอ็มบี ไทย” ยันลูกค้ากระทบไม่ถึง 1% ฟาก “ทีทีบี” เผยมีลูกค้าเข้าข่าย 100 ราย ธอส.แจงพร้อมช่วยลูกค้าเต็มที่

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สินเชื่อที่อยู่อาศัยของระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 1/2566 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.01% มาอยู่ที่ 3.16% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยที่ธนาคารเผื่อไว้ (buffer rate) อาจจะไม่เพียงพอ และกระทบความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าจากภาระที่ผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น ธปท.ได้หารือพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ในการเร่งเข้าไปดูแลลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่อาจได้รับผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้งวดการผ่อนชำระเดิมไม่เพียงพอชำระเงินต้นและดอกเบี้ย จึงต้องเร่งเข้าไปเจรจาลูกค้าในการช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับเทอมชำระหนี้ให้ลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย

“ปกติสินเชื่อบ้านสถาบันการเงินจะมีดอกเบี้ย buffer ไว้อยู่แล้ว แต่ในจังหวะที่ดอกเบี้ยขาขึ้น ดอกเบี้ยที่เคย buffer ไว้บางตัวอาจไม่เพียงพอ สิ่งที่เราทำ คือ การเข้าไปคุยกับแบงก์ให้เข้าไปดูลูกค้าและปรับเทอมการชำระหนี้ให้เหมาะสม”

แบงก์ขานรับนโยบายแบงก์ชาติ

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กลางเดือน มิ.ย.นี้ ธปท.จะมีการพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทั้งในส่วนของความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของลูกค้า หลังจากก่อนหน้านี้มีการพูดคุยไปบ้างแล้ว

โดยธนาคารได้เตรียมข้อมูล ออกแบบกระบวนการรองรับ และการสื่อสารดูแลลูกค้าดังกล่าวไว้แล้ว ทั้งนี้ ข้อมูล ณ ปัจจุบันลูกค้าของธนาคารยังไม่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น หรือต้องเข้ามาปรับเทอมการชำระหนี้

ADVERTISMENT

ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารมีการคำนวณค่าความแปรปรวนของอัตราดอกเบี้ย ทั้งขาขึ้นและลงไว้ (buffer) เผื่อไว้ประมาณ 1% ซึ่งปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ทยอยปรับขึ้นครั้งละ 0.10-0.20% ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยที่เผื่อไว้ 1% ยังพอรองรับอยู่

“หากมองในภาพรวมทุกแบงก์ ประเมินว่ากลุ่มลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ จนทำให้ภาระดอกเบี้ยท่วมค่างวด จะเป็นลูกค้ากู้ใหม่ก่อนที่ดอกเบี้ยจะทยอยปรับขึ้น หรือกลุ่มที่กู้ในปี 2563-2564 ที่อาจจะต้องเรียกลูกค้ามาปรับเทอมการชำระหนี้ใหม่” นายณัฐพลกล่าว

ADVERTISMENT

ขณะที่นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากประเมินมีลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ถึง 1% หรือประมาณ 150 ราย คิดเป็นวงเงินราว 500 ล้านบาท ทั้งนี้ ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ธนาคารจะพิจารณา 2 ประเด็นหลัก คือ

1.การปรับค่างวดรายเดือนเพิ่มขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น ทำให้ยอดผ่อนชำระค่างวดต่อเดือนไม่ตัดเงินต้น เช่น เดิมผ่อน 2 หมื่นบาทต่อเดือน ตัดเงินต้น 5,000 บาท และดอกเบี้ย 1.5 หมื่นบาท พอหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับดอกเบี้ยขึ้น และธนาคารทยอยขึ้นดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MRR) ทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนนำไปตัดเงินต้นน้อยกว่า 5% ธนาคารจะติดต่อลูกค้าเพื่อปรับค่างวดใหม่ เช่น เพิ่มเป็น 2.5 หมื่นบาทต่อเดือนซึ่งอาจมีลูกค้าบางส่วนผ่อนชำระไม่ไหว

และ 2.กรณีลูกค้าชำระไม่ไหว จะเข้ามาเจรจากับธนาคารในการขอขยายอายุจำนวนการผ่อนชำระ ซึ่งการขยายเวลาการชำระจะแตกต่างกันแต่ละธนาคารและลูกค้า สำหรับซีไอเอ็มบี ไทย ให้ผ่อนสูงสุด 30 ปี กรณีลูกค้าชำระเต็มทุกงวดหรือมีการโปะเงินบางส่วน รวมถึงดอกเบี้ย buffer ที่คำนวณเผื่อไว้ การผ่อนชำระจะเหลือเพียง 23 ปี ทำให้ลูกค้าสามารถขยายเวลาการผ่อนชำระได้ถึง 7 ปี

“กรณีที่ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น สิ่งที่ธนาคารจะทำสำหรับสินเชื่อบ้านมีอยู่ 2 เรื่อง คือ การปรับค่างวดเพิ่มขึ้น หากจำนวนเงินต้น ถูกตัดน้อยกว่า 5% ซึ่งจะทำให้ลูกค้าบางคนไม่ไหว ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.กังวลและอยากให้ธนาคารเร่งดูแลลูกค้า คือ การช่วยเหลือลูกค้าปรับเทอมการชำระ ซึ่งปกติเราก็มีการช่วยลูกค้าอยู่แล้ว”

เช่นเดียวกับนายจเร เจียรธนะกานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) กล่าวว่า จากการสำรวจลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น ถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ไม่ถึง 100 ราย หรือประมาณ 0.01% ของพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค่างวดปรับเพิ่มขึ้น

“เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นต่อเนื่อง ย่อมกระทบต่อภาระค่างวดสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธนาคารอาจจำเป็นต้องปรับค่างวดลูกค้า เนื่องจากค่างวดเดิมอาจไม่ครอบคลุมเงินต้น ซึ่งตรงนี้ธนาคารมีโปรแกรม “ตั้งหลัก” ช่วยเหลือลูกค้าอยู่แล้ว สำหรับรอบนี้ แม้ว่าแบงก์จะขึ้นดอกเบี้ย M rate แต่ยังไม่กระทบค่างวดลูกค้า แต่แน่นอนหากดอกเบี้ยขึ้นเรื่อย ๆ จนเราต้องปรับค่างวดลูกค้า ส่วนนี้อาจต้องมาปรับเทอมชำระกันใหม่”

ธอส.ยัน ดบ.ต่ำ-ช่วยลูกค้าเต็มสูบ

นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานการเงินและบัญชี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งในปี 2566 ธอส.จึงได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่เป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังปรับขึ้นช้ากว่าสถาบันการเงินอื่น ดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธอส. ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับของธนาคารพาณิชย์ เป็นการช่วยเหลือลูกค้าให้มีภาระการผ่อนชำระเท่าเดิมให้นานที่สุด และกระทบกับลูกค้าให้น้อยที่สุด

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มคุณภาพสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีสัญญาณด้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงฟื้นตัวช้าและยังไม่ทั่วถึง อาจทำให้บางครัวเรือนที่มีรายได้กลับมาไม่เต็มที่ ภายใต้ค่าครองชีพสูง ทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปี 2566 จะอยู่ในกรอบ 3.00-3.35% อย่างไรก็ดี การไหลของหนี้เสีย คาดจะไม่รุนแรง เนื่องจากธนาคารยังคงได้รับอานิสงส์จากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยั่งยืนอยู่

ทั้งนี้ ตัวเลขเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 85,139 ล้านบาท คิดเป็น 3.16% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2565 ที่มี 81,055 ล้านบาท คิดเป็น 3.01% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด

และหากดูตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 123,764 ล้านบาท คิดเป็น 4.59% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/2565 ที่อยู่ 122,174 ล้านบาท หรือ 4.53% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด

“กรณีดอกเบี้ยท่วมเงินต้นนั้น ไม่ได้กระทบสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งพอร์ต เพราะสัญญาบางส่วนของลูกค้ายังอยู่ในช่วงดอกเบี้ยคงที่ 3 ปีแรก ซึ่งเป็นลูกค้าที่เพิ่งกู้ แต่จะมีบางสัญญาที่อาจได้รับผลกระทบจาก buffer ที่ธนาคารเผื่อไว้ไม่เพียงพอ ซึ่งกลุ่มนี้เชื่อว่าธนาคารจะมีการ review สัญญาใหม่ และปรับเทอมการชำระเป็นรายสัญญา โดยลูกค้าอาจจะผ่อนยาวขึ้น เช่น จากเดิม 20 ปี จะเป็น 22 ปี โดยที่ภาระค่างวดผ่อนยังคงเท่าเดิม”