EXIM BANK เดินหน้าฟ้อง STARK ปมตกแต่งบัญชีทำแบงก์เสียหาย ปลัดคลังยัน ธปท.สั่งตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวน ขณะที่ล่าสุด STARK ขอ ก.ล.ต.ขยายเวลาทำ extended-special audit อีก ฟาก ก.ล.ต.ยังไม่ฟันธงขยายเวลาให้หรือไม่ หลัง STARK อ้างถูกอายัดทรัพย์สินทำให้เกิดความล่าช้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เดินหน้าฟ้องร้อง กรณีปล่อยกู้ให้กับบริษัทลูกของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK แล้วได้รับความเสียหาย เนื่องจากธุรกรรมมีความเชื่อมโยงกันกับกรณี STARK ที่มีการตกแต่งบัญชี แม้ว่าธนาคารจะไม่ได้ปล่อยกู้ให้กับ STARK โดยตรงก็ตาม
“เรื่องนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้รับรายงานจากทางเอ็กซิมแบงก์แล้ว และให้ติดตามรายละเอียด แล้วมารายงานเพิ่มเติม ซึ่งการดำเนินการกรณีเกิดความเสียหาย ก็คงเป็นไปตามแนวทางเดียวกับแบงก์อื่น ๆ” แหล่งข่าวกล่าว
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เท่าที่ทราบ มีแบงก์รัฐแห่งหนึ่งที่เข้าไปปล่อยกู้ในเคสที่เชื่อมโยงกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีการตกแต่งบัญชี ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สั่งให้แบงก์รัฐดังกล่าว ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนแล้ว
ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ทั้งธนาคารพาณิชย์ คือธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทย และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่ปล่อยกู้ให้กับ STARK ได้เดินหน้าตามกระบวนการทางกฎหมายกับ STARK และบริษัทลูก
โดยการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยให้กับบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกสายไฟและสายเคเบิลรายใหญ่ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ STARK
ล่าสุด EXIM BANK ชี้แจงว่า ได้ปล่อยกู้ให้แก่บริษัทลูกของ STARK ดังกล่าวโดยสอดคล้องกับพันธกิจของธนาคาร เพื่อสนับสนุนวงเงินนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลทั้งที่จำหน่ายในประเทศไทยเพื่อการพัฒนาประเทศและส่งออก
ซึ่งที่ผ่านมาการใช้วงเงินเป็นปกติ เมื่อบริษัทแม่ประสบปัญหา ธนาคารจึงอยู่ระหว่างการติดตามและประชุมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาต่อไป รวมทั้งธนาคารได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของสถาบันการเงินเฉพาะกิจครบถ้วนแล้ว
ขณะที่ STARK ได้ขอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พิจารณาขยายระยะเวลา การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษตามขอบเขตที่สำนักงาน ก.ล.ต.ให้ขยายผลเพิ่มเติม (extended-special audit) จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 17 ก.ค. 2566
โดยทางบริษัทอ้างว่า การที่สำนักงาน ก.ล.ต.มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของบริษัทและบริษัทย่อย ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจปกติของกลุ่มบริษัท จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว
ขณะที่สำนักงาน ก.ล.ต.ระบุว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะขยายเวลาตามที่ STARK ขอมาหรือไม่ และจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป พร้อมชี้แจงด้วยว่า การอายัดทรัพย์สินได้ดำเนินการด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ตามมาตรา 267 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
สืบเนื่องจาก ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษบุคคล รวม 10 ราย เป็นชุดแรก ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้ดำเนินคดีกรณีตกแต่งงบการเงิน เปิดเผยข้อความอันเป็นเท็จในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ และกระทำโดยทุจริตหลอกลวง