ปีนี้เรียกว่า ตลาดหุ้นไทยเผชิญวิบากกรรมนะครับ เพราะว่าเราเริ่มเห็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ตั้งแต่ต้นปีที่แบงก์รันในอเมริกา กลางปีเราเผชิญมรสุมจากกรณีของ STARK และความยืดเยื้อในการจัดตั้งรัฐบาล ในขณะที่ดอกเบี้ยโลกพุ่งสูงขึ้น และล่าสุดเราก็เผชิญกับภาวะสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส
วันนี้ “ประชาชาติ เวลธ์” เล่าเรื่องการลงทุน ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ จากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ที่จะมาร่วมวิเคราะห์ภาพตลาดทุน
Q : ถ้าดูภาพตลาดหุ้นไทยปีนี้ เรียกได้ว่าอาจจะเจอวิบากกรรม มองช่วง 2 เดือนสุดท้าย ฟันด์โฟลว์จะเป็นยังไงบ้าง?
คุณเทิดศักดิ์ : ก็จริงนะครับ ตามที่ว่ามานั่นละครับ เราก็เจอพวกประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นแรงกดดันตลาดเข้ามาเยอะแยะมากมาย และทำให้ตัวรีเทิร์นของตลาดตอนนี้ ติดลบไปมากกว่า 15% นับจากต้นปี (YTD) เพราะฉะนั้นถือว่าเราก็ผ่านเรื่องพวกนี้มามากพอสมควร
ทีนี้ประเด็นที่อยากให้น้ำหนักจากตรงนี้ไปก็คือว่า ในเมื่อเราเห็นราคาลงมาแล้ว ลองย้อนกลับไปดูนะครับว่า ในเชิงพื้นฐานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน มันถูกปรับลดลงมามากมายขนาดนั้นตามด้วยหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากมองภาพตรงนี้ ผมเห็นตัวฐานที่เป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียน ไม่ได้ลดลงไปแรงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นภาวะที่ราคาลงมาแรงจากความกดดันทั้งหลายที่เราบอกว่าเราเจอวิบากกรรมมาหลายล็อต ทำให้ราคาลง แต่ว่ากำไรมันไม่ได้ลงแรงเหมือนแบบนั้น
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า ราคาลงแรงแต่ตัวกำไรลงไม่แรง ก็แปลว่า ค่า PE หรือ Valuation ของตลาดมันต่ำมาก ตอนนี้ถ้าเรามองไม่ว่าจะเป็นมิติไหน อย่าง Valuation มิติแรก มองจากเรื่องค่า PE ต้องบอกว่าค่า PE ตอนนี้ มันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง และถ้าหากว่าเอา 10 ปีย้อนหลังมา เรามีค่าเฉลี่ยตัวหนึ่ง และวัดดูว่ามะนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากน้อยแค่ไหน วัดทางสถิติวัดจากตัว Standard Deviation มันลบประมาณ 1.5 SD ซึ่งถือว่าต่ำมาก
มองอีกมุมหนึ่ง Price to Book Value ตอนนี้มีเส้นค่าเฉลี่ย 10 ปีเหมือนกัน แต่ว่าตรงนี้มันต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 10 ปี 2 SD ซึ่งก็ถือว่าต่ำมาก อีกมุมหนึ่งมองในแง่ของผลประกอบการ ถ้าหากว่าเราย้ายเงินจากพันธบัตรมาซื้อหุ้น ผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหุ้นจะสูงกว่าพันธบัตรมากว่า 3.8% ตรงนี้ต้องถือว่าเราโอเค เพราะไปเทียบกับบางประเทศอย่างสหรัฐ ตอนนี้ถ้าคนย้ายเงินจากพันธบัตรมาซื้อหุ้น ได้ผลตอบแทนน้อยกว่าถือพันธบัตรประมาณ 0.4% ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้เราก็ถือว่า Valuation ตลาดหุ้นบ้านเขาก็แพงแล้ว
เพราะฉะนั้นการที่เราลงแรงเพราะเจอวิบากกรรม แต่กำไรไม่ได้ลงแรง ผมมองว่ามันก็เป็นโอกาสแบบหนึ่งสำหรับคนที่เป็น Long term investment
ฟันด์โฟลว์ไหลออก 9.3 แสนล้าน
ในแง่ของฟันด์โฟลว์ ถ้ามองไปแล้วต้องบอกว่าเราถูกขายมาตลอด จริง ๆ ปีนี้ไม่ใช่ปีแรกที่เราถูกขาย ถ้าย้อนหลังกลับไปประมาณสัก 10 ปี ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงตอนนี้บ้านเราถูก net sell ไปแล้วประมาณ 9.3 แสนล้านบาท ถือว่าเป็น net sell มโหฬาร และเป็นการขายแบบต่อเนื่องมานานมากพอสมควร ถามว่าถึงจุดนี้เป็นจุดกลับไหม ถ้ามอง Valuation ก็บอกโอเค ถ้ามององค์ประกอบในเชิงของตัวเศรษฐกิจ ก็บอกว่าบ้านเราเป็นอะไรที่กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว
ซึ่งถือว่าเป็นตัว support กับประเด็นปัญหา อยู่ที่ว่า ภาพของตัวปริมาณเงินในระบบ ผมมองว่ามันลดลง และกลุ่มผู้ลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเรา เดิมเราเคยมีกลไกพวก LTF หรือพวกกองทุนประหยัดภาษีทั้งหลาย พวกนี้หายไป ก็ทำให้วอลุ่มมูลค่าซื้อขายมันต่ำลง เพราะว่าวอลุ่มการซื้อขายมันต่ำลง เหมือนกับมาร์เก็ตแคปเราใหญ่ชึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่ามีหุ้นเพิ่มเข้ามา แต่ว่าน้ำหนักของแรงที่จะซื้อกลับเข้าไปมันมีไม่มาก พอมองมุมนี้มันอาจจะเห็นการ move ของตลาดที่ช้าหน่อย
ซึ่งเป็นแบบนี้มันไก่กับไข่ เราตะทำตลาดเราให้สตรองก่อนและโฟลว์ไหลเข้า หรือโฟลว์ไหวเข้ามาแล้วสตรอง ซึ่งผมมองภาพว่าอาจจะเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการที่โฟลว์ยังไม่ได้ไหลกลับเข้ามาในช่วงเวลาแบบนี้ เพียงแต่ว่าจากตรงนี้ไปผมเชื่อว่า โฟลว์ที่ไหลออก น่าจะเป็นการไหลออกในอัตราที่ช้าลงไป
Q: สัปดาห์ที่แล้วหุ้นก็ตกลงแร ถ้าโฟกัสเรื่องของภาวะสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสเทียบเคียงกรณีรัสเซียยูเครนเป็นอย่างไรบ้าง
คุณเทิดศักดิ์ : เรื่องของตัวสงครามอิสราเอลกับฮามาส ต้องบอกว่าผลกระทบที่เข้ามามันต่างกัน ลองนึกภาพถ้าย้อนหลังกลับไป เมื่อรัสเซียใช้ปฏิบัติทางการทหารกับยูเครน ตอนนั้นภาพใหญ่ในเชิงเศรษฐกิจบ้านเรา หรือว่าเศรษฐกิจโลก ยังเป็นอะไรที่แข็งแกร่งอยู่ และเงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยก็ต่ำมาก เพราะฉะนั้นตัวผลกระทบที่เข้ามา ตอนนี้รัสเซียใช้กำลังทางการทหารกับยูเครน ตรงนั้นเป็นเรื่องของตัวจุดเริ่มต้นที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ทั้งน้ำมันและธัญพืชปรับตัวสูงขึ้น
พอปรับตัวสูงขึ้น ความกลัวมันก็มา ว่าดอกเบี้ยที่ต่ำแบบนี้ ตอนนั้น Fed Funds Rate แค่ 0.25% อาจจะเห็นการขยับตัวขึ้นของเงินเฟ้อ เพราะต้องใช้ดอกเบี้ยเข้าไปปรับ ตรงนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา และจะเห็นการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นในช่วงที่รัสเซียยูเครน ไม่ได้เป็นอะไรที่พรวดพราดรุนแรงเหมือนกับรอบนี้
คือลงจริง แต่ว่าก็จะมีการรีบาวนด์กลับมาเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งผ่านไปจุดหนึ่ง คนก็มองภาพ 1.สงครามไม่ได้ขยายวง และความรุนแรงไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติมมากมาย เพราะฉะนั้นก็เห็นลิมิตของดาวน์ไซด์ที่มาจากรอบนั้น
ทีนี้พอมาถึงอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ผมว่าสภาพแวดล้อมเบื้องต้น มันไม่เหมือนเดิมแล้ว เราถูกกลับขึ้นมาอยู่ในภาวะที่เงินเฟ้อสูง ตอนนี้ยังสูงอยู่นะ ถึงแม้ว่าจะลงมาก็ตาม และอีกมุมหนึ่งเราเห็นตัวดอกเบี้ยนโยบาย เปรียบเทียบย้อนกลับไป ตอนที่รัสเซียเข้าไปยูเครน ตอนนั้นจุดสตาร์ตของดอกเบี้ยนโยบายของเฟด 0.25%
ตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบาย 5.5% เวลาดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาสูงขนาดนี้ ความกดดัน (pressure) ต่าง ๆ มันก็เกิดขึ้นกับตัวตลาดหุ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะมีประเด็นเรื่องอิสราเอลกับฮามาสเข้ามา แรงกดเหมือนกับเราเจ็บแผลอยู่แล้ว แล้วมีคนมากดแผลอีกทีหนึ่ง แรงกดแผลอาจจะไม่แรงเท่าตอนที่เราบาดเจ็บครั้งแรก แต่ความเจ็บมันจะมีมากกว่า
ตลาดหุ้นก็เหมือนกัน เมื่อมันถูกกดดันจากตัวฐานเดิม ที่มันมีดอกเบี้ยสูง มีเงินเฟ้อสูงอยู่แล้ว เศรษฐกิจชะลอ มันก็เลยมีแรงกดทับเรื่องนี้อีกเรื่องหนึ่ง ภาพที่เราเห็นกลายเป็นว่า ”ตลาดรอบนี้ลงค่อนข้างจะแรง“
และลักษณะที่ลงแรงตรงนี้กังวลเรื่องอะไร ก็คงมีความกังวลว่า จริงอยู่ว่าอิสราเอลหรือว่าปาเลสไตน์ไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมัน แต่ถ้าหากว่าสงครามเกิดความเสี่ยงต่อขยายวงออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยายวงออกไปในกลุ่มประเทศอิสลามทางด้านตะวันออกกลาง แล้วเขาเป็นแหล่งการผลิตน้ำมัน หรือว่าควบคุมช่องทางในการขนส่งน้ำมัน
ตรงนี้เป็นความกังวล ซึ่งเกิดขึ้นมา แล้วจะเห็นผลกระทบกับตลาดไปอีกสักระยะหนึ่ง ตอนนี้ถ้ามองไปแล้วก็คงต้องโฟกัสดูว่า การปฎิบัติการโดยการใช้ทหารราบเข้าไปในภาคพื้นดินของตัวอิสราเอลจะเป็นอะไรที่รุนแรงแค่ไหน และปฏิกิริยารอบข้างจะเป็นยังไง
สรุปให้เห็นก็คือว่าความแตกต่างระหว่างรอบที่รัสเซียปฏิบัติการทหารกับยูเครน กับรอบนี้ ความต่างก็คือว่า ความบอบช้ำของเศรษฐกิจ ณ จุดเริ่มต้นมันต่างกัน ตอนนี้ต้องบอกว่าเราบอบช้ำมากกว่า และดอกเบี้ยนโยบายก็สูงกว่า ผลกระทบที่มีตอนนี้มันก็เลยดูแล้วแรงกว่าช่วงนั้นครับ
Q: รอบนี้จะทำให้เกิดวิกฤตเงินเฟ้อรอบใหม่ไหมครับ พี่เทิดมองยังไงบ้างครับ
คุณเทิดศักดิ์ : ตอนนี้ยังตอบได้ยาก เหตุผลเพราะว่ามันต้องดูพัฒนาการของข่าวว่า เหตุการณ์มีความคืบหน้าไปยังไง ถ้าหากว่าสถานการณ์ดูแล้วไม่มีการขยายวง และตัวราคาน้ำมันไม่ได้ขึ้นไปแรงมาก ผมคิดว่าแรงผลักที่มันจะเกิดเงินเฟ้อคงไม่แรงเท่า เพราะว่าตอนที่มีรัสเซียกับยูเครน นอกจากน้ำมันแล้ว มันยังมีพวกทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรัสเซียยูเครน รวมถึงพวกธัญพืชด้วย วงมันกว้างกว่า เพราะฉะนั้นมันเกิดวงซัพพลายที่มันช็อตลงไป แต่รอบนี้ยังไม่เห็น ถ้าไม่มีการขยายวงผมคิดว่า เป็นตัวที่ผลักเงินเฟ้อให้ขึ้นไปแรงเท่าเหมือนรอบที่ผ่านมา
Q: สุดท้ายอยากให้มองเทรนด์แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปีหน้า มองเป้าดัชนีไว้อย่างไรบ้างครับ
คุณเทิดศักดิ์ : จริง ๆ ถ้าหากตั้งต้นจากที่ผมอธิบาย คงจะเห็นภาพว่า 1.ตลาดหุ้นบ้านเรา Valuation ถูก เรามองภาพกำไรบริษัทจดทะเบียนปีหน้ายังน่าจะเห็นการเติบโต โดยปีนี้ทำ EPS บริษัทจดทะเบียน 88.6 บาท ปีหน้าเราคาดการณ์ประมาณ 99.8 บาท คิดว่าโตเป็นดับเบิลดิจิตอยู่แล้ว ดูภาพเศรษฐกิจปีหน้าเราจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเข้ามาค่อนข้างจะครบถ้วนมากมายหลากหลาย ถึงแม้ว่าบางอันจะดีเลย์ไปบ้าง แต่ผมเชื่อว่าก็ยังมาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเลตหรือว่าค่าแรงขั้นต่ำ รถไฟฟ้า 20 บาทต่อเส้นทาง ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นตัวที่ช่วยทำให้ภาพตลาดมีความน่าสนใจอยู่ เพียงแต่ถ้าเราไม่มีประเด็นที่ถูกรบกวน จากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ผมมองภาพว่าหุ้นบ้านเรา น่าจะอยู่ในโซนที่ดูดีกว่าปีนี้ครับ
ก็คืออาจจะพ้นจากเคราะห์กรรมทั้งหลาย หรือว่าสิ่งที่เราเจอมาตลอดปีที่ผ่านมา จะผ่านพ้นไปได้ครับ
ถ้าปีนี้เราทำเป้าสูงสุดประมาณสัก 1,524 จุด ส่วนปีหน้าด้วยวิธีการเดียวกัน แต่กำไรบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้น จะให้เป้าดัชนีประมาณสัก 1,700 จุด