สำรวจ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” VAT ทั่วโลก 7% ของประเทศไทยอยู่ตรงไหน
ภาษี VAT (Value Added Tax) หรือภาษีมูลค่าเพิ่มกำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ภายหลังกระทรวงการคลังโดยพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เสนอปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ หนึ่งในนั้นคือการขึ้นภาษี VAT ที่ไทยไม่ได้ปรับมาหลายปี
VAT คืออะไร ไทยเก็บเท่าไร
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นหนึ่งในรายได้หลักของรัฐ กรมสรรพากรอธิบายว่า ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
เริ่มมีการใช้ครั้งแรกเมื่อ 70 ปีก่อนในประเทศฝรั่งเศส และถูกใช้เรื่อยมาจนปัจจุบันแล้วกว่า 175 ประเทศ
เดิมทีประเทศไทยมีอัตราการเก็บ VAT อยู่ที่ 10% มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 แต่ด้วยวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 จึงมีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตรา VAT ลงชั่วคราวเหลือ 7% เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนในช่วงขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤตต้มยำกุ้งจะคลี่คลายผ่านพ้นไปแล้ว ทว่าคนไทยยังอยู่ร่วมกับ VAT 7% เรื่อยมานับแต่นั้น โดยทุกครั้งที่มีการพูดเรื่องการขยับ VAT มักจะถูกแรงต้านจากหลายฝ่ายจนไม่มีผู้มีอำนาจใดทำสำเร็จ
เมื่อถอยออกไปมองทั่วโลก แต่ละประเทศเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่แตกต่างกันไป
VAT ทั่วโลกเป็นอย่างไร
ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เช่น เดนมาร์ก อิตาลี ฟินแลนด์ สเปน เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีอัตราการเรียกเก็บ VAT โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 19%
ประเทศนอกกลุ่ม OECD เช่น โครเอเชีย อาร์เจนตินา ตูนิเซีย จอร์แดน สิงคโปร์ มีอัตราเรียกเก็บ VAT โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 15%
ซึ่งฮังการีเป็นประเทศที่เรียกเก็บ VAT มากสุดที่ 27% แต่มีข้อยกเว้น โดยเรียกเก็บ VAT ที่ต่ำลงเป็น 18% ในสินค้าบางชนิด เช่น อาหาร (ผลิตภัณฑ์นมบางชนิด ซีเรียล แป้ง) รวมถึงงานดนตรีหรืองานเต้นรำ และ 5% สำหรับยา ที่อยู่อาศัย หนังสือ สิ่งพิมพ์อื่น ๆ อินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ ยังเรียกเก็บภาษีสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์อย่างน้อย 4 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น หนังสือพิมพ์ในอัตรา 0%
ขณะที่แคนาดา ไต้หวัน ยูเออี เป็นกลุ่มประเทศที่เรียกเก็บ VAT ต่ำสุดในอัตรา 5% ซึ่งยูเออีมีการยกเว้นภาษีเพิ่มเติมในสินค้าที่มีการส่งออกไปยังประเทศนอกกลุ่มความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC-Gulf Cooperation Council) เช่น น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ส่วนรัฐควิเบกในแคนาดากลับต่างออกไป ตรงที่เรียกเก็บในอัตรารวมสูงถึง 14.975%
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเพิ่ม VAT
VAT มักเป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาเสมอ ผลการศึกษาพบว่า VAT ทำให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 20% (Mgammal, 2021)
ซาอุดีอาระเบียถือเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่เพิ่งมีการเริ่มเก็บ VAT เป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมกราคม 2018 ในอัตรา 5% และเพิ่มอัตราเป็น 15% ในเดือนกรกฎาคม 2020
ผลการศึกษาพบว่า การเพิ่ม VAT ในอัตราที่สูงมาก ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซาอุฯอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ผลกำไรระยะสั้นลดลงโดยเฉลี่ย 2.16% และมีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทบางแห่งจะเผชิญภาวะล้มละลาย ส่งต่อไปถึงอัตราการว่างงานและรายได้ภาษีที่ลดลงในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Mgammal et al., 2023)
อย่างไรก็ตาม การเก็บ VAT เพิ่มขึ้นอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หากเศรษฐกิจในประเทศยังเต็มไปด้วยธุรกิจสีเทา และการหลบเลี่ยงภาษีในอัตราที่สูง รวมถึงศักยภาพหรือสมรรถวิสัยในการเสียภาษีของประชาชน (Tax Capacity) ที่ต่ำ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน (Mgammal et al., 2023)
ทั้งนี้การกระทรวงการคลังระบุว่า การขึ้นภาษี VAT เป็นเพียงหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ ซึ่งยังมี การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล Capital Gain Tax, NIT (Negative Income Tax) การดึงเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน รวมถึงใช้เทคโนโลยีมาช่วยจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและความเป็นธรรมต่อประชาชน