ธ.ก.ส.จัด 5 กลุ่มแก้หนี้ ยืดจ่าย 20 ปี-ปลดบ่วงผู้สูงวัย

ธ.ก.ส.ลุยแก้หนี้เกษตรกรช่วงพักชำระเงินต้น 3 ปี งัดกลยุทธ์เคาะประตูบ้านเกษตรกรรายตัว เตรียมจำแนกเกษตรกรออกเป็น 5 กลุ่ม ชี้กลุ่มมีปัญหาจะขยายเวลาชำระสูงสุด 20 ปี พร้อมตัดหนี้สูญให้กลุ่มสูงอายุ-ไม่มีทายาท-ทำการเกษตรไม่ไหว ตั้งเป้าคุมเอ็นพีแอลทั้งปีไม่เกิน 4%

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในปีบัญชี 2562 (เม.ย. 62-มี.ค. 63) นี้ ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ 2 ของมาตรการขยายเวลาชำระหนี้เงินต้นเกษตรกร (พักหนี้ 3 ปี) โดยธนาคารได้เตรียมแผนจัดการหนี้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับลูกหนี้ของธนาคาร โดยเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ 2.9 ล้านราย ทั้งนี้ ได้เข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส.แล้ว ซึ่งในช่วง 1 ปีนี้จะส่งพนักงานทุกสาขาลงพื้นที่ไปพบเกษตรกรเป็นรายคน

“ปีนี้เป็นปีที่ยังอยู่ในช่วงขยายเวลาพักชำระหนี้ต้นเงิน ดังนั้น ช่วงปีนี้เราจะไปพบเกษตรกรทุกราย โดยใช้ข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พนักงานนำไปพบเกษตรกร แล้วดูแต่ละรายมีปัญหาตรงไหน หนี้สินที่ขยายเวลาไป 3 ปีต้องจัดการเพิ่มไหม ซึ่งบอร์ดได้อนุมัติแผนการจัดการหนี้แล้ว โดยลูกหนี้ทุกรายจะต้องถูกสอบทานเรื่องความสามารถในการผลิต และเราตั้งใจว่าเมื่อลูกหนี้ 2.91 ล้านราย ออกจากโครงการหลังครบ 3 ปีแล้ว จะต้องออกไปแบบที่มีภาระหนี้สอดคล้องกับรายได้ทุกราย” นายอภิรมย์กล่าว

ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2562 นี้ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าหมายควบคุมสัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้ไม่เกิน 4% ของสินเชื่อรวม จากสิ้นปีบัญชี 2561 มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.87% ลดลงจากปีบัญชี 2560 ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 3.34%

นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ปีนี้ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าคุมเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 4% โดยจะเข้าไปดูเกษตรกรลูกค้าทุกรายที่มีกว่า 4 ล้านรายว่าทำการผลิตอะไรอยู่บ้างและมีหนี้เท่าใด จากนั้นจะจัดกลุ่มลูกค้าออกเป็น 5 กลุ่มเพื่อจำแนกวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อมีรายได้เพิ่มก็จะมีการชำระหนี้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีวินัยชำระหนี้ดีอยู่แล้ว

“จะมีการขยายหนี้ให้เพิ่มเติมในบางกลุ่มที่มีปัญหา และจะดูว่าต้นทุนการผลิตแต่ละรายสูง หากสูงก็จะช่วยลดให้ รวมถึงดูว่า ประสิทธิภาพการผลิตต่ำหรือไม่ หากต่ำจะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดูแลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ โดยหาวิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น เพื่อทำให้เกษตรกรแต่ละรายมีรายได้มากขึ้น มีกำไร และสามารถชำระหนี้ได้” นายศรายุทธกล่าว

สำหรับการจัดกลุ่มเกษตรกรออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) กลุ่มที่ยังทำกินปกติ ไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ โดยกลุ่มนี้ไม่ต้องทำอะไร 2) กลุ่มที่มีปัญหาแต่ไม่มาก เช่น ต้นทุนการผลิตอาจจะสูงเล็กน้อย หรือผลผลิตต่ำเล็กน้อย ก็จะมีการเข้าไปแนะนำบางส่วน 3) กลุ่มที่ต้นทุนการผลิตสูง และผลผลิตต่ำมาก ซึ่งจะไม่มีกำไรจากผลผลิตเลย ดังนั้น กลุ่มนี้จะได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก 10 ปี เพื่อให้มีเวลาพลิกฟื้น

4) กลุ่มที่มีปัญหารุนแรง เช่น ทำการผลิตได้ลดลง ผลผลิตน้อยมาก และมีหนี้นอกระบบด้วย กลุ่มนี้จะได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้อีก 20 ปี รวมถึงมีการฟื้นฟูอาชีพ และ 5) กลุ่มสุดท้ายทำกินไม่ไหว สูงอายุ หรือทุพพลภาพ ไม่มีทายาท ไม่มีความสามารถชำระหนี้ กลุ่มนี้จะตัดหนี้สูญ (ไรต์ออฟ) ให้

“กลุ่มที่ต้องตัดหนี้สูญ ประเมินว่ามีไม่มาก แต่เราต้องช่วย เนื่องจากเราเป็นธนาคารของรัฐ ถ้าเกษตรกรมีเหตุที่สุจริตจริง ๆ ก็ต้องให้ โดยทั้งหมดนี้จะลงไปดูในปีนี้เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละกลุ่มมีกี่ราย ซึ่งแนวทางเหล่านี้บอร์ดมีมติอนุมัติแล้วไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะธนาคารดำเนินการเอง ซึ่งจะสำรวจให้เสร็จทั้งหมดใน 1 ปีนี้ แต่ระหว่างนั้นก็จะทำคู่ขนานไปด้วยในรายที่สำรวจเสร็จแล้ว” นายศรายุทธกล่าว