3 กองรีทผลตอบแทนพุ่ง 35% “WHART-IMPACT-CPNREIT” นำโด่ง

“มอร์นิ่งสตาร์ฯ” เปิด 3 กอง REITผลตอบแทนโลด 35% ตามด้วยกองอสังหาฯ-อินฟราฯ ค่ายบัวหลวง ชี้คนหนีหุ้นโยกเงินเข้าอสังหาฯ 3 ประเภทกองทุน เผยผลตอบแทนอยู่ในช่วง 5-9% ต่อปี กสิกรไทย เชียร์ TFFIF อัด 2 หมื่นล้าน ลงทุนสินทรัพย์ใหม่

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในช่วง 1 ปีย้อนหลัง พบว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (property fund) ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด 3 อันดับแรก (ณ วันที่ 30 เม.ย. 62) ได้แก่ กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ฟิวเจอร์พาร์ค (FUTUREPF) ให้ผลตอบแทนถึง 20.2% ต่อปี, กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก (BKKCP) ผลตอบแทน 18.8% และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าเทสโก้ โลตัส รีเทล โกรท ผลตอบแทน 17.3% ทั้งนี้ 3 กองข้างต้นผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 19%

ขณะที่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) ให้ผลตอบแทน 39.1%, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็คโกรท (IMPACT) ผลตอบแทน 38.5% และทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท (CPNREIT) ผลตอบแทน 29.4% ทั้งนี้ 3 กองข้างต้นผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 35%

สำหรับ 3 อันดับแรกของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) ที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด ได้แก่ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGATIF) ผลตอบแทน 18.0%, กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล (DIF) ผลตอบแทน 12.0% และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ผลตอบแทน 2.5% ทั้งนี้ 3 กองข้างต้นผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 11%

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง กล่าวว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนค่อนข้างสูง และมีกระแสเงินไหลออกไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ปลอดภัยกว่า โดยบางส่วนมีการโยกย้ายไปลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, REIT และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่มากขึ้น เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ และที่สำคัญมีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง เช่น ค่าเช่าอาคารสำนักงาน โกดังสินค้า และพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ทำให้มีกำไรที่สามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ของ 3 ประเภทกองทุนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 5-9% ต่อปี

“แม้ว่าปีนี้ การซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนทั้ง 3 ประเภท เพื่อหวัง capital gain (กำไรจากราคาหน่วยลงทุน) ที่สูง คงอาจจะยาก เพราะราคาหน่วยลงทุนเหล่านี้ ได้มีการปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 แต่ถ้าหากเป็นการลงทุนเพื่อรับเงินปันผล ก็ถือว่าให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ยังน่าสนใจอยู่ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่มีระดับเสี่ยงใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ตราสารหนี้ ที่มีผลตอบแทนต่ำ ดังนั้นควรแบ่งเงินมาลงทุนในกองทุน 3 กองนี้” นายชัยพรกล่าว

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ท่ามกลางตลาดหุ้นมีความผันผวนจากปัจจัยลบต่าง ๆ ประกอบกับการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นเรื่องที่นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงการจองซื้อหุ้นกู้ได้ยากเช่นกัน ดังนั้น จึงทำให้การลงทุนในอินฟราฟันด์ เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับตราสารหนี้ด้วย

สำหรับ บล.กสิกรไทย แนะนำ “ซื้อ” กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) ที่ราคาเป้าหมาย 13.31 บาท เนื่องจากมีสถานะปลอดหนี้ และมีแผนอัดฉีดสินทรัพย์ใหม่เข้ากองทุนเพิ่มเติมในอนาคตจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายใหม่มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะทยอยเข้ากองทุน TFFIF ในปีนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ของ TFFIF อยู่ที่ 5.6% และมีอายุสัญญาเหลือกว่า 29 ปี

นายอรรถพล กิตติอัครเสถียร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและบริหารผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย เปิดเผยว่า ในระยะยาว การลงทุนในกองทุน ทั้ง 3 ประเภทสินทรัพย์นั้น ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่จะได้รับผลตอบแทนตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสปรับขึ้นค่าเช่าได้ และยิ่งเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ที่แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจอาจจะไม่มีผลกระทบมาก เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี สาธารณูปโภคยังมีความจำเป็นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถนน ทางด่วน ไฟฟ้า น้ำประปา และดาวเทียม ฯลฯ ดังนั้น รายได้จึงมีโอกาสค่อนข้างสม่ำเสมอกว่าสินทรัพย์เสี่ยงชนิดอื่น

“ส่วนความกังวลเรื่องปัจจัยภายนอก เช่น สงครามการค้ายืดเยื้ออาจกดดันให้ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อราคาสินทรัพย์เหล่านี้” นายอรรถพลกล่าว