สงครามการค้า จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอย ?

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ที่วันนี้หลายคนเรียกว่าเป็น สงครามการค้า (trade war) และรวมถึง สงครามเทคโนโลยี (tech war) เริ่มขยายวงกว้างและรุนแรงขึ้น หลังการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายประสบความล้มเหลว ทำให้ในวันที่ 10 พฤษภาคม สหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000ล้านเหรียญ จาก 10% เป็น 25% และดำเนินกระบวนการพิจารณาเก็บภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอีก 320,000 ล้านเหรียญ ต่อมาก็ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ และบริษัทในเครือห้ามทำธุรกิจซื้อขายสินค้ากับบริษัทสหรัฐ

ส่วนจีน ตอบโต้โดยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 60 ล้านเหรียญ จาก 10% เป็น 25% และทางการจีนก็กล่าวว่ากำลังจัดทำบัญชีดำบริษัท องค์กร หรือบุคคลที่จีนมองว่าไม่น่าเชื่อถือและเป็นภัยต่อบริษัทของจีนเช่นกัน (ยังไม่มีการเผยแพร่รายชื่อบัญชีดำดังกล่าว)

สถานการณ์ความขัดแย้งที่เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดความกังวลว่า หากสถานการณ์ขยายวงกว้างขึ้น อาจจะนำพาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ตลาดการเงินได้แสดงให้เห็นถึงความกังวลอย่างชัดเจน จากการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหุ้น ซึ่งปรับตัวลดลงนับแต่เดือนพฤษภาคม และโดยเฉพาะตลาดพันธบัตร ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปีของสหรัฐปรับลดลงอย่างรวดเร็วจาก 2.5% ในต้นเดือนพฤษภาคมมาอยู่ที่ประมาณ 2.1% ในปัจจุบัน หมายความว่า นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจน่าจะโตต่ำมาก หรือหาการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงได้ยาก จึงมาแย่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลแทน นอกจากนี้ดัชนีอีกตัวที่มักจะใช้เป็นตัวชี้นำภาวะถดถอยคือ ส่วนต่างดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีและ 3 เดือน ซึ่งเริ่มติดลบในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ ในอดีตส่วนต่างดอกเบี้ยดังกล่าวจะติดลบต่อเนื่องเป็นเวลา 3-8 เดือน ก่อนเกิดภาวะถดถอย

นักวิเคราะห์หลายสำนักเริ่มมองว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในปี 2020 เช่น การสำรวจความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์โดย National Association for Business Economics เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม มองว่า โอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยในปีนี้มีเพียง 15% แต่โอกาสเกิดภาวะถดถอยปลายปี 2020 สูงถึง 60% (เพิ่มขึ้นจาก35% ในการสำรวจเดือนมีนาคม) และมองว่านโยบายกีดกันการค้า (protectionist trade policy) ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ทำไมจึงกลัวว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ต้องยอมรับว่า หลังจากเกิดวิกฤตการเงินปี 2008 เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ โดยวัฏจักรการฟื้นตัวครั้งนี้ก็กินเวลายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว (ปกติน่าจะ 5-6 ปี) และปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ช่วงชะลอตัว ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการคลังของรัฐบาล และนโยบายการเงินที่คงดอกเบี้ยต่ำก็ได้จบลงแล้ว

ดังนั้น แม้ไม่มีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เศรษฐกิจโลกก็ต้องชะลอตัวลงอยู่แล้ว แต่เมื่อมีปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อ เศรษฐกิจโลกโดยรวมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันสูง จะเห็นว่าสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีน แต่ส่งผลให้การส่งออกของหลายประเทศรวมทั้งไทย ที่ส่งไปจีนปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ (กระทบจากเศรษฐกิจจีนที่โตช้าลง และกระทบจากการที่จีนนำเข้าสินค้าขั้นกลางไปผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐลดลง)

และที่ก่อให้เกิดความกังวลมากกว่า คือ ผลกระทบต่อการลงทุน เพราะความขัดแย้งข้างต้น จะส่งผลต่อความมั่นใจของธุรกิจ ทำให้ชะลอการลงทุน กล่าวคือ ทั้งการบริโภค การลงทุน และการส่งออกจะชะลอตัวไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น การที่จะพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอแรง ต้องพึ่งการใช้จ่ายภาครัฐและการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งในวันนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีกระสุนเหลือเพียงพอหรือไม่ ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยเพิ่มขึ้น หากสงครามการค้าทวีความรุนแรงต่อเนื่อง

สำหรับผู้มองโลกในแง่ดียังหวังว่า ในการประชุมผู้นำกลุ่มจี 20 ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ประธานาธิบดีของสหรัฐและจีนอาจจะเจรจาและนำไปสู่ข้อตกลงบางประการที่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนบรรเทาและไม่ขยายวงกว้างจากเดิม แต่จนบัดนี้ยังไม่มีข่าวว่ามีการนัดหมายพบปะระหว่างกันแต่อย่างไร

หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนเป็นแค่เรื่องปัญหาการค้าเท่านั้นก็น่าจะสามารถตกลงกันได้ในที่สุด (เจรจากันมาปีกว่า แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ) เพราะในเชิงของการค้า จะสามารถเจรจาหาข้อตกลงที่เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายได้ไม่ยาก (win-win strategy)

แต่หากว่าเป็นความขัดแย้งที่มากกว่าปัญหาการค้า ดังที่นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า ประธานาธิบดีทรัมป์และสหรัฐมองว่า จีนเป็นภัยคุกคามและกำลังผงาดขึ้นมาท้าทายความเป็นผู้นำของสหรัฐ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร การเจรจาหาข้อตกลงอาจจะไม่สามารถทำได้


และหากเป็นไปในแนวทางหลัง ความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็จะมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า (พ.ศ. 2563)