“มอร์นิ่งสตาร์” เปิดภาพรวมกองทุน Q2 เงินไหลเข้ากว่า 5.1 หมื่นลบ.

มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยไตรมาส 2 เงินไหลเข้าสุทธิกว่า 5.1 หมื่นล้านบาท ครึ่งปีไหลเข้ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ชี้ Foreign Investment Bond Fix Term ยังครองตำแหน่งเงินไหลเข้าสูงสุดต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ฟากกลุ่ม Short Term Bond/Equity Large-Cap เงินออกสุทธิมากที่สุด

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 5.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากสิ้นปี 2561 ในส่วนของไตรมาส 2 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.1 หมื่นล้านบาท หนุนให้ครึ่งปีที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าทั้งสิ้นกว่า 9 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นการไหลเข้าในกองทุนรวมตราสารหนี้มากกว่า 1.2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเงินส่วนหนึ่งที่ไหลออกจากกองทุนรวมหุ้น กองทุนตราสารตลาดเงิน กองทุนผสม และกองทุนรวม Commodities ส่งผลให้ยอดสุทธิอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท

สำหรับกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดยังคงเป็นกองทุนกลุ่ม Foreign Investment Bond Fix Term (ตราสารหนี้ต่างประเทศกำหนดระยะเวลา) ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 มีเงินไหลเข้าสุทธิ 5.2 หมื่นล้านบาท รวม 6 เดือนมีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 1.6 แสนล้านบาท ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่มีเงินไหลเข้า 1.1 แสนล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการที่มีกองทุนเปิดใหม่ในกลุ่มนี้ค่อนข้างมากในช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย.62 มีกองทุนเปิดใหม่กว่า 100 กองทุน

ส่วนกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดลำดับต่อมาคือ กลุ่มกองทุนผสม Aggressive Allocation มีมูลค่ารวม 2.7 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 2 มีเงินไหลเข้า 1.4 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก ขณะที่กองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดลำดับ 3 คือกลุ่ม Mid/Long Term Bond (ตราสารหนี้ระยะกลาง) มีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาสที่ 2 ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยไหลเข้ากองทุน TMB Aggregate Bond ถึง 1.85 หมื่นล้านบาทในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา

ในทางกลับกัน กองทุนกลุ่ม Short Term Bond เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสูงสุดในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาที่ 3.7 หมื่นล้านบาท โดนมีเงินไหลกลับเข้ามาสุทธิในไตรมาส 2 เพียง 1.3 พันล้านบาท ส่วนกลุ่ม Equity Large-Cap มีเงินไหลออกสุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 2 ยังคงเป็นการไหลออกสุทธิเช่นกันที่ 2.5 หมื่นล้านบาท


“เรามองว่าสาเหตุที่มีเงินไหลออกเป็นเพราะว่าในช่วงเดือนมิถุนายน SET Index ปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็วจึงเห็นนักลงทุนขายทำกำไรเพื่อเข้าไปถือหุ้นในตลาดแทน ส่วนผลตอบแทนที่ได้จากตราสารหนี้ระยะสั้นอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในเรื่องของดอกเบี้ยขาลง ส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงกลุ่มดังกล่าว และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับผลตอบแทนไม่ต่างกันมาก” นางสาวชญาณี กล่าวสรุป