ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยดัชนี้ “KR-ECI” มิ.ย. 62 ปรับตัวลดลง ชี้ครัวเรือนไทยรัดเข็มขัดหวังลดภาระค่าครองชีพ-โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลชุดใหม่

An electronic board shows stock movements at a private trading firm in Bangkok on June 18, 2012. Asian markets surged on June 18 and the euro rose after Greek pro-austerity parties won enough votes to form a government, but optimism it will stay in the eurozone was tempered with warnings that the future remains uncertain. AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้รายงานดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทย (KR-ECI) และดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ที่ทำการสำรวจในเดือนมิ.ย. 2562 ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนไทยต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยในปัจจุบัน ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องระดับราคาสินค้าในประเทศที่ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ครัวเรือนยังมีความกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำของตนเอง ซึ่งในประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วง 5 เดือนที่เหลือ (ส.ค.-ธ.ค.) ของปี 2562 อาจจะเผชิญแรงกดดันที่มากขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งน่าจะทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีการปรับตัวมากขึ้นในเรื่องการใช้จ่าย การจ้างงาน รวมไปถึงการลงทุน

นอกจากนี้ ภาวะฝนทิ้งช่วงและน้ำในเขื่อนที่อยู่ในระดับต่ำอาจจะส่งผลลบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในช่วงฤดูเพาะปลูก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมายังรายได้ครัวเรือนเกษตร สถานการณ์เหล่านี้นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยยังต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งแล้ว ซึ่งน่าจะช่วยพยุงการใช้จ่ายและบรรเทาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนไทยได้ในส่วนหนึ่ง

*อนึ่ง ดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR Household Economic Condition Index หรือ KR-ECI) จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เพื่อให้เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความรู้สึกของครัวเรือนที่มีต่อภาวะการครองชีพทั้งในปัจจุบัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้า โดยค่าดัชนีที่สูงกว่าระดับ 50 หมายถึง ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า ภาวะการครองชีพ “ดีขึ้น” ในทางตรงกันข้าม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่าระดับ 50 หมายถึงภาวะการครองชีพ “แย่ลง”