“นักวิชาการ-เอกชน” แนะแนวทางกำกับดูแลการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ชี้รัฐต้องตามให้ทันโลก-เทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT Symposium 2019) ในช่วงเสวนาหัวข้อ Competitive Thailand เพื่อรับฟังมุมมองเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของการกำกับดูแลและการแข่งขันทางการค้าจากผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา จากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ จาก Amazon Web Services (Thailand and Vietnam) ดำเนินการเสวนาโดย ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีรายละเอียดดังนี้

พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มีข้อดี/ข้อจำกัดอย่างไร

ดร.สกนธ์ กล่าวสรุปเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ว่ามีความแตกต่างจากฉบับ พ.ศ. 2542 ค่อนข้างมากในแง่ขอบเขตของการบังคับใช้ อาทิ การกำหนดอิทธิพลเหนือตลาดและขนาดธุรกิจ (มาตรา 50) การควบรวม (มาตรา 51) การตกลงทำการค้าร่วมกัน (มาตรา 54 และ 55) และพฤติกรรมของธุรกิจ (มาตรา 57) และมีการกำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีความเป็นอิสระ เพราะโลกธุรกิจวันนี้มีพลวัตสูงมาก ถ้านำกฎระเบียบของราชการมาใช้อาจตามไม่ทันสถานการณ์ นอกจากงานกำกับดูแลแล้ว ภารกิจสำคัญอีกอย่าง คือ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการแข่งขันทางการค้าที่ถูกที่ถูกทาง และสร้างวัฒนธรรมทางการค้าใหม่ให้กับประเทศ เพราะประเทศที่มีการแข่งขันทางการค้าที่เข้มแข็ง จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการยกระดับผลิตภาพ ซึ่งท้ายที่สุดช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

ขณะที่ ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อจำกัดเพราะบังคับใช้เฉพาะกับภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ แต่ไม่ครอบคลุมการออกกฎหมาย มาตรการ หรือการกระทำของภาครัฐที่อาจบิดเบือนการแข่งขัน เช่น นโยบายการเปิดเสรีการค้าและการกำหนดราคาร่วมกับสมาคมการค้า การให้สัมปทาน การขอใบอนุญาต การให้สิทธิพิเศษแก่รัฐวิสาหกิจ ดังนั้น จะทำอย่างไรไม่ให้ภาครัฐออกกฎระเบียบที่บิดเบือน ซึ่งในต่างประเทศ สำนักงานการแข่งขันทางการค้าจะมีบทบาท 2 เรื่อง ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมายและการสนับสนุนนโยบายของรัฐที่ส่งเสริมการแข่งขัน (Competition Advocacy) ตัวอย่างเช่น ในเกาหลีใต้ ผู้แทนของสำนักงานฯ มีตำแหน่งในระดับรัฐมนตรีและมีสิทธิประเมินว่า มาตรการรัฐมีผลกระทบต่อการแข่งขันหรือการผูกขาดหรือไม่ เพื่อจำกัดอำนาจของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ (Chaebol) ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องมีคือ Competition Advocacy และการประเมินผลกระทบก่อนออกนโยบาย (Regulatory Impact Assessment)

ซึ่ง ดร.สกนธ์ ได้เสริมว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้ได้เปิดช่องให้ทางสำนักงานฯ สามารถเสนอความเห็นแก่รัฐบาลได้เช่นเดียวกัน และการส่งเสริมการแข่งขันจะมองเรื่องเปิดเสรีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมของกิจการขนาดเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ด้วย

การแข่งขันที่เป็นธรรมในมุมมองของธุรกิจเอกชน

ดร.ชวพล ได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้เป็น 3 มุม ได้แก่ (1) ผู้บริโภคหรือประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆและมีสิทธิเลือกสิ่งที่ตอบสนองความต้องการได้ดีที่สุด (2) ธุรกิจสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ อาทิ เทคโนโลยี แรงงาน สัมปทาน ช่วยให้บริษัทใหม่ ๆ มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ และ (3) ประเทศที่เปิดกว้างส่งเสริมการแข่งขันจะทำให้ทุกคนเก่งขึ้น สังเกตได้ว่าในไทยยังไม่มีธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้าง value ได้มาก เพราะบริษัทเทคโนโลยีในไทยส่วนใหญ่ยังเน้นตอบสนองความต้องการของคนในประเทศเท่านั้น การเปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น อย่างในภาคบริการและภาคการบริการทางการเงิน จะช่วยผลักดันให้ในประเทศปรับปรุงตัว เพื่อสินค้าที่ดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกลง

เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การแข่งขันที่เกี่ยวกับภาครัฐหรือไม่

ในทัศนะของ ดร.เดือนเด่น ภาครัฐยังไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ไม่ทัน ทั้ง ๆ ที่ภาครัฐมีบทบาทในการกำกับและส่งเสริม ดังนั้น สิ่งที่ต้องปรับให้เร็วคือการจะกำกับเทคโนโลยีอย่างไรให้พอดี ควรปรับทัศนดติในการกำกับดูแล คือ (1) เปลี่ยนจากความกลัวแบบเหมารวม เป็นการกำกับแบบคำนึงถึงความเสี่ยง (Risk-based) และ (2) ยอมให้เกิด โดยให้ทดสอบเทคโนโลยีหรือบริการใหม่ ๆ ใน Sandbox ก่อน
ดร.สกนธ์ได้กล่าวเสริมว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Technology Disruption) นั้นมี 2 ด้าน โดยยกตัวอย่างเทคโนโลยีการค้าปลีก ที่ด้านหนึ่งทำให้ร้านโชห่วยล้ม อีกด้านหนึ่งระบบข้อมูลทำให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าและบริการที่ดียิ่งขึ้น ความท้าทายคือการรักษาสมดุลให้กับธุรกิจเดิมและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ดีไปพร้อมกัน นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่คือ ข้อมูล ระบบเครือข่าย และตลาดแบบ Multi-market ซึ่งกฎกติกาของรัฐตามไม่ทันทั้งในเรื่องการกำกับและส่งเสริม และการทำงานของหน่วยงานรัฐยังเป็น silo ในการแข่งขันที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องจึงต้องอาศัยการบูรณาการกับส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อกำหนดนโยบาย ซึ่งท้ายที่สุดผู้กำกับดูแลต้องมี mindset ที่เหมาะสม

โดย ดร.เดือนเด่น ได้สนับสนุนการบูรณาการ พร้อมยกตัวอย่างหน่วยงานชื่อ Network Regulator ในเยอรมนีที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบเครือข่ายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม วิทยุกระจายเสียง ในหน่วยงานเดียว

เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมการแข่งขัน หรือนำไปสู่การผูกขาด

ดร.ชวพลมองว่า เทคโนโลยีเป็นเพียงตัวช่วย (Enabler) ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลง (Disrupt) หรือส่งเสริมอะไรได้ สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจและวิธีการที่นำเทคโนโลยีไปใช้ โดยอธิบายเป็น 3 มุม ได้แก่ (1) ผู้บริโภคหรือประชาชน ที่ในอดีตเคยถูกจำแนกด้วยอายุ อาชีพ ฯลฯ วันนี้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สินค้าและบริการตรงใจผู้บริโภค (Personalised) และเลือกบริโภคได้ตามสั่ง (On-demand) เช่น การชมเน็ตฟลิกซ์, แอปพลิเคชันทดลองแต่งหน้า, แพคเกจประกันภัยแบบ Pay as you use (2) ธุรกิจ เทคโนโลยีคือ Game Changing ทำให้คนต้องหมั่นเรียนรู้ เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรมาให้ความสำคัญกับข้อมูลเพื่อรู้จักผู้บริโภค และเปลี่ยนวิธีคิดขององค์กร ให้เลือกความก้าวหน้า (Progression) ก่อนความสมบูรณ์แบบ (Perfection) แล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาพัฒนา เรียนรู้จากความล้มเหลวเพื่อสร้างนวัตกรรม และ (3) ประเทศ เทคโนโลยีทุกวันนี้อยู่บนแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้อย่างไม่มีข้อจำกัด รัฐควรกำกับดูแลโดยไม่จำกัดความสามารถในการแข่งขันทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ

มุมมองต่อการรักษาสมดุลในการกำกับดูแล

ดร.ชวพลกล่าวว่า ภาครัฐควรมีการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้โดนเอาเปรียบ ไม่ให้ถูกนำข้อมูลไปใช้อย่างผิดกติกา รวมถึงไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบ ในขณะที่เปิดโอกาสให้นำเทคโนโลยีไปใช้ได้ โดย

ดร.เดือนเด่น ได้ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) และการแข่งขันที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ (Level Playing Field)

ส่วนในขั้นไหนที่ควรมีการกำกับดูแล ดร.สกนธ์ชี้แจงว่า จะมองทั้งสวัสดิการของผู้บริโภคและผู้ผลิตว่าได้ถูกบิดเบือนไปหรือไม่ เช่น ราคา คุณภาพ เงื่อนไขในการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะแพลตฟอร์มที่ส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศทำให้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจึงต้องหารือร่วมกัน และได้ทิ้งท้ายว่า ในวันที่พลวัตการทำธุรกิจเปลี่ยนไป สิ่งที่น่ากังวลคือ ความเข้มแข็งของการกำกับของหน่วยงานรัฐ เพราะยังขาดบุคลากรด้านเศรษฐศาสตร์ กฎหมายอีกมาก ประเทศต้องสร้างพื้นฐานและสร้างความเข้าใจให้สถาบันการศึกษาเร่งสร้างบุคลากรด้านเหล่านี้ ขณะเดียวกันนอกจากการกำกับแล้ว ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องการแข่งขันทางการค้าในหน่วยงานรัฐ ให้คำนึงว่านโยบายที่ออกมาจะช่วยสร้างบรรยากาศในการแข่งขัน หรือสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่