“KBank-SCB” นำโด่งลุยปิดสาขา ธปท.รื้อเกณฑ์เพิ่มช่องทางบริการแบงก์

แบงก์พาณิชย์เดินหน้าปิดสาขาต่อเนื่อง เผย 9 เดือนแรกสาขาแบงก์ลดลงเหลือ 6,920 แห่ง “กสิกรไทย” นำโด่งปีนี้ปิดไปแล้ว 74 สาขาเหลือ 896 แห่ง “ไทยพาณิชย์” ตามมาอันดับสองปิดไปแล้ว 65 แห่ง ฟาก “แบงก์กรุงเทพ” ยังครองแชมป์แบงก์ที่มีสาขามากที่สุด ขณะที่ ธปท.เปิดรับฟังความเห็นรื้อหลักเกณฑ์การให้บริการของแบงก์ใหม่ เปิดทางตั้งบุคคลเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท. พร้อมเลิกเพดานถอนผ่านเอเย่นต์ต่อครั้ง หวังลดการจ่ายค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้บริโภคคนไทยเปลี่ยนไป หันมาทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์พยายามดึงลูกค้ามาอยู่บนแพลตฟอร์มมือถือมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในการแข่งขันยุคดิจิทัล ทำให้การทำธุรกรรมผ่านสาขาของธนาคารลดลง ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาธนาคารจึงทยอยปรับลดสาขาเพื่อลดต้นทุน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลสถิติล่าสุดของจำนวนสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2562 พบว่า มีสาขาจำนวนทั้งสิ้น 6,920 แห่ง ลดลงสุทธิ 25 แห่ง จาก ณ สิ้นเดือน ธ.ค.ปี 2561 มีทั้งสิ้น 6,945 แห่ง

โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่มีการปรับลดสาขาจำนวนมาก แต่ในภาพรวมพบว่าจำนวนลดลงไม่มาก เนื่องจากพบว่าในส่วนของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ซึ่งได้รับการจัดตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เมื่อปี 2550 ได้มีการเร่งสาขาอย่างต่อเนื่อง จาก ณ สิ้นปี 2561 มี 316 แห่ง โดยข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2562 เพิ่มเป็น 516 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นถึง 200 แห่ง ทำให้จำนวนสาขาภาพรวมธนาคารพาณิชย์ลดลงไม่มาก

สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ในช่วง 9 เดือนแรก มีการปรับลดสาขามากที่สุดคือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยพบว่า มีการปิดสาขา 74 แห่ง ทำให้ปัจจุบันมีสาขาเหลือทั้งสิ้น 896 แห่ง ตามมาด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่มีจำนวนสาขาลดลง 65 แห่ง เหลือ 1,042 แห่ง ขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีการปรับลดสาขาลง 15 แห่ง เหลืออยู่ 1,151 สาขา ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ถือเป็นธนาคารที่มีสาขามากที่สุดอยู่ที่ 1,176 แห่ง ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการปรับลดสาขาลง 6 แห่ง

ทั้งนี้ การจัดเก็บข้อมูลของ ธปท.นี้ เป็นการนับรวมสาขาและจุดให้บริการโดยพนักงานของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันพบว่า นอกจากการปิดสาขาขนาดใหญ่แล้ว ธนาคารก็หันมาเปิดเป็นจุดให้บริการย่อยมากขึ้น ทำให้จำนวนสาขาและจุดให้บริการสุทธิลดลงไม่มาก นอกจากนี้ พบว่าการปิดสาขาส่วนใหญ่ อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ

รายงานจาก ธปท.ระบุว่า ในช่วงวันที่ 8-21 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ธปท.ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ (banking channel) และการใช้บริการจากบุคคลภายนอก (outsourcing) เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันรูปแบบการใช้บริการทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไป ลูกค้ามีความต้องการที่สะดวก รวดเร็ว ด้วยราคาที่เป็นธรรม แม้ปัจจุบันจะมีหลากหลายช่องทางการให้บริการ แต่อาจยังไม่เพียงพอต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวน

หลักเกณฑ์เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงบริการของลูกค้า รวมถึงการทบทวนหลักเกณฑ์ outsourcing ของสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและสะท้อนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำธุรกิจ อย่างการปิดสาขาทั่วไปหรือสาขาอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมธนาคารต้องแจ้งลูกค้าล่วงหน้าอย่างน้อย 45 วัน จะปรับเป็นแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน

ขณะเดียวกันยังเพิ่มการทำธุรกรรมผ่าน “ช่องทางโทรศัพท์” นอกจากการใช้ระบบ IVR (ระบบอัตโนมัติ) ที่ให้ลูกค้าทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์ ก็จะเปิดให้สามารถติดต่อลูกค้าในรูปแบบอื่นได้ เช่น ให้ลูกค้าทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ เป็นต้น ขณะที่ “ช่องทางให้บริการนอกสถานที่” มีการปรับในส่วนการให้บริการ “แบบบูท” โดยยกเลิกเวลาสูงสุดที่ให้ตั้งบูทนอกสถานที่ได้ จากเดิมที่กำหนดว่าหากตั้งบูทเกิน 30 วัน จะนับเป็นจุดให้บริการ

นอกจากนี้ จะขยายขอบเขตให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งบุคคลธรรมดาเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ได้ ในธุรกรรมบางประเภท โดยไม่ต้องขออนุญาตจาก ธปท. ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีหลักแหล่งในการให้บริการ มีความพร้อมด้านเครื่องมือและระบบ ไม่มีลักษณะต้องห้ามที่ไม่พึงประสงค์ โดยสามารถให้บริการในธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น รับถอนเงิน (รวมถึงเบิกจ่ายสินเชื่อ) รับชำระเงิน ซึ่งจะเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการเข้าถึงบริการของลูกค้า โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีสาขาธนาคาร หรือ ATM ให้บริการ อีกทั้งจะเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่าน card scheme และช่วยลดการทำธุรกรรมนอกระบบ เช่น การโอนเงิน การถอนเงินสด ผ่านบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

พร้อมกันนี้ ยังจะยกเลิกเพดานในการถอนเงินผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ต่อครั้ง จากเดิมกำหนดไว้ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อลดการจ่ายค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อนในกรณีทำธุรกรรมเกินกว่า 5,000 บาท/รายการ แต่ยังคงกำหนดวงเงินถอนไม่เกิน 20,000 บาทต่อบัญชีต่อวันไว้อยู่ เพื่อควบคุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าในกรณีมีการหลอกลวง (fraud) เกิดขึ้น