“แลกเงิน” ขอซอฟต์โลนธปท. บรรเทาภาระช่วงธุรกิจชะงัก

Reuters/Rupak De Chowdhuri

สมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเร่งถก ธปท. หาช่องใช้ “ซอฟต์โลน” หลัง “โควิด-19” พ่นพิษธุรกิจหยุดชะงักแบกค่าใช้จ่ายอ่วม แจง “พอใจ” รัฐมีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนแล้วบางส่วน ทั้งเคาะจ่ายชดเชยประกันสังคม 62% ให้พนักงาน 3 เดือน พร้อมเลื่อนเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 3-6 เดือน คาดปีนี้ธุรกิจแลกเงินแย่หนัก บาดเจ็บถ้วนหน้า เชื่อมีบางรายถอดใจ “เลิกกิจการ”

สมชาย พิพัฒนนันท์

นายสมชาย พิพัฒนนันท์ นายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาสมาคมได้ยื่นหนังสือถึงศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) เพื่อขอรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นกรณีเร่งด่วน โดยปัจจุบันได้มีการส่งต่อไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลพิจารณา ซึ่งจากการประชุมร่วมกันได้มีข้อสรุปบางส่วนเป็นมาตรการที่สามารถทำได้ทันที และมาตรการที่ยังต้องประสานกับกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลังเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สมาคมเรียกร้อง 2-3 ข้อ ได้แก่ 1.การชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว จากภาคประกันสังคม หลังจากธุรกิจเริ่มได้รับผลกระทบในช่วงเดือน มี.ค. แต่ขณะนั้นประกันสังคมยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเรื่องการช่วยเหลือพนักงาน ซึ่งปัจจุบันประกันสังคมได้ข้อสรุปมาตรการเยียวยาออกมาชัดเจนแล้ว โดยจ่ายชดเชยให้ตามกฎหมายที่ 62% ของฐานเงินเดือน เป็นเวลา 3 เดือนซึ่งพนักงานบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมจะได้รับเงินชดเชยอยู่ที่ 9,300 บาท

2.เสนอให้มีการชะลอเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภธ.40) ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่ปกติที่ผู้ประกอบการต้องหยุดกิจการชั่วคราว ซึ่งกระทบทำให้สภาพคล่อง โดยทางการได้ตรวจสอบและผ่อนผันการเก็บภาษีดังกล่าวให้ชั่วคราว 3-6 เดือน

และ 3.เสนอให้มีการพิจารณาให้สินเชื่อระยะสั้นไม่คิดดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ หรือได้รับโอกาสได้รับสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจและมีสภาพคล่องโดยขอใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของ ธปท. เพื่อนำมาบรรเทาค่าใช้จ่ายที่ยังมีภาระอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา มีการตีความว่า ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นสถาบันการเงิน ไม่ใช่บุคคลที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนดทำให้ไม่เข้าข่ายการขอใช้วงเงินซอฟต์โลน อย่างไรก็ดี ทาง ธปท.กำลังศึกษารายละเอียดมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอยู่

“เรื่องหลัก ๆ ที่เราเสนอ เบื้องต้นก็ได้รับการเยียวยาและชดเชยบางส่วน เช่น ประกันสังคม เป็นต้น แต่มีส่วนที่ต้องคุยเพิ่มเติม เพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ไม่มีธุรกรรมซื้อขาย เราต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่ค่าใช้จ่ายยังเดินอยู่ถือว่ากระทบค่อนข้างหนัก” นายสมชายกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ประกอบการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตจาก ธปท. มีทั้งสิ้นราว 2,397 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่ดำเนินธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศโดยตรง 700-800 ราย ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกสมาคมอยู่ 170 ราย 2.กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่รับเงินตราต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักเป็นสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตจาก ธปท.เช่นกัน มีผู้ประกอบการอยู่ 700-800 ราย และ 3.กลุ่มที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจร้านค้าขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวมีราว 700 ราย โดยทั้งหมดนี้ต้องหยุดกิจการชั่วคราวเกือบทั้งหมด และน่าจะมีบางรายที่อาจต้องหยุดกิจการถาวร เพราะแนวโน้มธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินปีนี้ไม่น่าจะมีการเติบโต

“ช่วงเดือน มี.ค. ธุรกรรมหายไปเกือบ 100% ปีนี้ธุรกิจจึงไม่น่าจะเห็นการเติบโต แต่จะบาดเจ็บจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท ที่บริหารจัดการแตกต่างกัน อาจมีบางรายถอดใจหยุดกิจการ เพราะยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะลากยาวแค่ไหน” นายสมชายกล่าว