Perpetual Bond… หุ้นกู้อมตะนิรันดร์กาล สมชื่อจริง ๆ

คอลัมน์ สถานีลงทุน
นิธิพงศ์ ทวีสิทธิ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

Perpetual bond ที่เรียกกันว่า หุ้นกู้ตลอดชีพ หรือหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์นั้น กลับมากล่าวถึงในช่วงนี้อีกครั้ง ด้วยคูปองหน้าตั๋วที่สูงเทียบกับภาวะดอกเบี้ยตลาดที่อยู่ในระดับต่ำ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ ขอถือโอกาสทบทวนคุณลักษณะและความเสี่ยงของหุ้นกู้ประเภทนี้ให้ฟังกันอีกสักรอบครับ

-ไม่มีกำหนดอายุ หรือไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ นักลงทุนจะต้องถือหุ้นกู้นี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้ออกใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ที่มักกำหนดไว้ที่ 5 ปี หลังจากวันที่เสนอขาย โดยผู้ออกมีสิทธิเลือกที่จะไถ่ถอนหรือไม่ก็ได้ หากนักลงทุนต้องการเงินคืนก็ทำได้เพียงการขายในตลาดรองเท่านั้น ซึ่งสภาพคล่องอาจไม่มากนัก ส่งผลให้มีโอกาสที่จะขายต่ำกว่าราคาต้นทุนที่ซื้อมา

-เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิและไม่มีประกัน หากผู้ออกล้มละลาย นักลงทุนที่ถือครองจะมีสิทธิได้รับชำระคืนเป็นลำดับ หลังจากเจ้าหนี้มีประกัน และเจ้าหนี้สามัญอื่น ๆ ซึ่งอาจจะได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนหรือบางส่วนตามจำนวนเงินที่เหลือจากการชำระเจ้าหนี้ลำดับก่อนหน้า

-เลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้ ผู้ออกสามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระ จะเลื่อนไปชำระในวันใด บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยที่ค้างจ่าย แต่ระหว่างนั้นผู้ออกจะไม่สามารถจ่ายปันผล ไม่ว่าจะเป็นเงินหรือหุ้นปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีผู้ออกรายใดของไทยเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย และไม่ใช้สิทธิไถ่ถอนเมื่อถึงกำหนด first call

-ไม่มีเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ หรือ cross-default หากผู้ออกหุ้นกู้มีการผิดนัดชำระหนี้ในหุ้นกู้อื่น หรือเจ้าหนี้ประเภทอื่น ๆ จะไม่ถือว่าเป็นเงื่อนไขของการผิดนัดชำระไขว้ ทำให้ผู้ออกหุ้นกู้ประเภทนี้ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ออกต้องชำระคืนเงินต้นก่อนกำหนดได้

-อันดับเครดิตของหุ้นกู้ประเภทนี้ โดยทั่วไปจะต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัท 2-3 ระดับ เพราะเงื่อนไขหรือคุณสมบัติต่าง ๆ ที่กล่าวมา ทำให้หุ้นกู้นี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นกว่าหุ้นกู้ปกติ ดังนั้น จึงต้องชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นนี้ด้วยการจ่ายดอกเบี้ยหน้าตั๋วที่สูงกว่าหุ้นกู้ปกติ ซึ่งนักลงทุนก็ต้องพิจารณาว่าคุ้มกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นแล้วหรือไม่ โดยอาจเทียบเคียงกับอัตราเงินปันผลกรณีลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออก

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 63 ที่ผ่านมา สภาวิชาชีพบัญชีได้เริ่มใช้มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 32 ใหม่ (TAS 32) ที่ระบุว่า ในกรณีที่การชำระคืนเงินต้นเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในอนาคตที่มีความไม่แน่นอน และอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ออกตราสารนั้นจะต้องบันทึกบัญชีเป็น “หนี้สิน” กิจการจะบันทึกบัญชีเป็น “ทุน” ได้ในกรณีที่การชำระคืนเงินต้น เกิดจากการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการของผู้ออกเท่านั้น ดังนั้น ผู้ออกจึงได้กำหนดเงื่อนไขชำระคืนเงินต้นให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการบันทึกบัญชีเป็น “ทุน” ตามมาตรฐานการบัญชีใหม่ฉบับที่ 32 นี้ ความนิยมในการออก perpetual bond จึงดูเหมือนจะไม่ถูกกระทบอะไร ตราบใดที่ในด้านของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating agency) ยังนับตราสารประเภทนี้เป็นทุน 50% และเป็นหนี้ 50% ในช่วง 5 ปีแรกอยู่ ซึ่งจะช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (DE ratio) ของบริษัทไม่เพิ่มสูงขึ้น ตรงนี้เองที่น่าจะเป็นอีกจุดหนึ่งที่ดึงดูดผู้ออกบางรายที่ต้องการคุณสมบัตินี้ในสภาวะที่ต้องระมัดระวังเรื่องสภาพคล่องเป็นพิเศษ

จากคุณลักษณะและความเสี่ยงข้างต้นของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์นี้ จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ออกย่อมต้องเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไปให้แก่นักลงทุน และยิ่งช่วงนี้ที่เกิดวิกฤตโควิด นักลงทุนระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น ส่งผลให้ส่วนชดเชยความเสี่ยง (credit spread) สูงขึ้น เช่น ณ สิ้นปีེ อายุ 5 ปี ระดับ AA และระดับ BBB จาก 96 bps และ 298 bps ได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 176 bps และ 393 bps ตามลำดับ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 63

ขณะที่ ณ วันที่ 15 มิ.ย. 63 หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ จากผู้ออกทั้งหมด 11 บริษัท มีมูลค่าคงค้างประมาณ 1.01 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว โดยมีอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วอยู่ระหว่าง 5-9.5%

ท่ามกลางสถานการณ์ไม่ปกติในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าทุกบริษัทล้วนแล้วแต่ต้องการเสริมสร้างสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ตนเองด้วยช่องทางระดมทุนต่าง ๆ การออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนที่ไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้สินต่อทุน แต่ก็ต้องแลกด้วยการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ประกอบกับความต้องการดึงดูดนักลงทุนยิ่งผลักดันให้ผลตอบแทนสูงขึ้นไปอีก


ดังนั้น นักลงทุนควรพึงเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ก่อนตัดสินใจลงทุน