บัตรเครดิตกับดอกเบี้ยที่มหาโหด (2)

คอลัมน์ พินิจพิเคราะห์

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ www.facebook.com/vi.kittichai

บทความตอนที่แล้ว เราเห็นถึงประโยชน์ของการมีบัตรเครดิตไว้ใช้ซึ่งมีอยู่มากมาย แต่ก็เหมือนกับ “ดาบสองคม” โดยด้านที่ดีก็ดี ด้านที่ร้ายก็มาก อยู่ที่ว่าเราจะใช้มันอย่างไร บทความตอนนี้จะมาพูดถึง “โทษ” ของการใช้บัตรเครดิตแบบไม่ถูกวิธี หลายท่านใช้บัตรเครดิตโดยการดึงเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ซึ่งปกติบัตรเครดิต จะมีให้เลือกจ่ายแบบเต็มจำนวนหรือจ่ายเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดเงินทั้งหมด ซึ่งถ้าเลือกแบบหลัง นั่นหมายถึงว่าจะต้อง “เสียดอกเบี้ย” ในอัตราที่สูงมากถึงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนโดยเฉลี่ย ซึ่งนักลงทุนชื่อดังก้องโลก “วอร์เรน บัฟเฟตต์” สามารถทำได้ แต่เขา “สร้างผลตอบแทน” ได้ ในขณะที่ผู้ใช้บัตรเครดิตที่เลือกจ่ายแบบหลัง สร้างค่าใช้จ่ายให้กับตัวเอง

นี่ไงครับทำไมถึงมีคนรวย ทำไมถึงมีคนจน ก็เพราะวิธีการคิด และวิธีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน

เรามาดูกันครับ ปัจจุบันบัตรเครดิตทั้งระบบมีจำนวน 19.6 ล้านใบ มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ 3.33 แสนล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม 9,859 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.96 เปอร์เซ็นต์ ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด (ข้อมูลมาจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2560) โดยจำนวนหนี้เสียส่วนใหญ่มาจากกลุ่ม Generation Y ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยทั้งหมด

ไหน ๆ ก็พูดถึงสินเชื่อบัตรเครดิตแล้ว ก็อยากจะพูดถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน ปัจจุบันนี้มีจำนวนบัญชีสินเชื่อทั้งหมด 12.23 ล้านบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้าง 3.31 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 9,844 ล้านบาท

ถ้ารวมสินเชื่อ 2 ประเภทเข้าด้วยกัน จะมีสินเชื่อรวม 6.64 แสนล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม 2 ประเภทเท่ากับ 19,703 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.97 เปอร์เซ็นต์ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ในความรู้สึกของผม มันไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมากเลย ดังนั้นจะอ้างว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้ต้องมีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและหรือสินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงถึง 18% หรือกรณีของบัตรเครดิตประเภท Nonbank

ผมขอยกตัวอย่าง KTC ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพี่อดูว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่คิดกับลูกค้า กับต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ KTC ต้องชำระแก่ผู้ถือหุ้นกู้ของตน เป็นอย่างไร โดยมีรายละเอียดหุ้นกู้ดังต่อไปนี้ วันที่ออกของหุ้นกู้คือ 1 มิ.ย. 2560 กำหนดไถ่ถอน 1 มิ.ย. 2565 อายุหุ้นกู้ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย (ปีที่ 1-3) = 3.00% อัตราดอกเบี้ย (ปีที่ 4) = 3.25% อัตราดอกเบี้ย (ปีที่ 5) = 3.50% กำหนดจ่ายดอกเบี้ย : ชำระดอกเบี้ยทุก 3 เดือนตลอดอายุหุ้นกู้ คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี = 3.15% เท่านั้น

ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอยู่ที่ 15%/ปี และยังมีค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินอีก 5%/ปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลสูงสุด ก็อยู่ที่ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน 13 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมแล้วมีค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นี่ยังไม่นับรวมค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้ค้างชำระ จะเห็นได้ว่า KTC มีส่วนต่างของดอกเบี้ยในส่วนของบัตรเครดิต เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ 16.85% และมีส่วนต่างของดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อบุคคล เมื่อเทียบกับต้นทุน 24.85% นับว่าเป็น “ส่วนต่างที่ได้มโหฬาร” มาก (ทั้งนี้ผมยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการที่ผู้ใช้สินเชื่อเหล่านี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน ในขณะที่หุ้นกู้ของ KTC ทาง KTC จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน) โดยที่อัตราดอกเบี้ยที่ KTC คิดกับลูกค้าเป็นอัตรานี้มานานแล้ว ถึงแม้ในช่วงหลายปีก่อน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินต่าง ๆ หรืออัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ของ KTC เอง ก็สูงกว่าระดับปัจจุบันนี้ โดยในช่วงที่ “อัตราดอกเบี้ย” ในประเทศไทยอยู่ในระดับ “ต่ำ” ทำให้ “ต้นทุน” ของ KTC และสถาบันการเงินต่าง ๆ “ลดลง” ไปพอสมควร แต่ “ไม่เห็น” ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคล ลงมาให้กับลูกค้าเลย เท่ากับว่า “มาร์จิ้นถ่างกว้าง” ขึ้นมาพอสมควรเลย

สถาบันการเงินอื่น ๆ ก็มีการคิดดอกเบี้ยกับลูกค้าอยู่ในระดับ “ใกล้เคียง” กัน ไม่ใช่เฉพาะ KTC เจ้าเดียว

ผมแปลกใจมากว่า ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยถึงได้นิ่งเฉย ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนใจไปกับประชาชน ที่ต้องใช้บริการไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล จึงยินยอมให้มีการคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่ปัจจุบันอัตรา “ดอกเบี้ยเงินฝาก” เฉลี่ย 1 ปีอยู่ที่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต “แตกต่าง” ถึง 18 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนต่างของดอกเบี้ยในส่วนของสินเชื่อบุคคล เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 26% เลยทีเดียว จะอ้างว่ามีหนี้เสียอยู่ค่อนข้างมาก แต่ผมคิดว่าเหตุผลแค่นี้ไม่เพียงพอ

ยิ่งหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ของประเทศไทยเราสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ในอาเซียน โดยประเทศไทยกับมาเลเซียเป็นแค่ 2 ประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนสูงถึงขนาดนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการใช้สินเชื่อเหล่านี้ ย่อมเป็นการลดภาระให้กับผู้ที่จำเป็นจะต้องใช้สินเชื่อดังกล่าว ในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้ ซึ่งก็จะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงได้บ้าง

จริง ๆ แล้วผมอยากให้ผู้ว่าการ ธปท. กล้า ๆ หน่อยครับ กำหนดการชำระเงินขั้นต่ำให้เพิ่มจากปัจจุบันนี้ที่อยู่ที่ 10% ให้เป็น 30% ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บัตรเครดิตที่จะซื้อสินค้าหรือบริการ โดยหวังที่จะใช้เงินในอนาคตมาจ่ายค่าสินค้าก่อน “ต้องคิดมากขึ้น” ก็จะเป็นการช่วย “ลดภาระหนี้” ของผู้ใช้บัตรเหล่านี้ลงได้ แล้วก็จะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ “ลดลง” ได้แน่ ๆ ครับ

 


บัตรเครดิตกับดอกเบี้ยที่มหาโหด (1)