“ดนุชา” ยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฝ่าวิกฤตหนี้ประเทศ

“ดนุชา พิชยนันท์” รองเลขาสภาพัฒน์ฯ ยกปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฝ่าวิกฤต “หนี้”

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 ที่ห้องแกรนด์ฮอล์ ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” จัดสัมมนา หนี้ โจทย์ใหญ่ประเทศไทยเราจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้อย่างไร ในหัวข้อ ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต “หนี้”

โดยมี นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวในหัวข้อเรื่อง “ปิดเพดานหนี้ฐานราก ปรับโครงสร้างหนี้ ประเทศ” ตอนหนึ่งว่า เรื่องหนี้อยู่ใกล้ตัวเราทุกคน ส่วนประเทศต้องเดิน financing ในรูปแบบนี้เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องแยกหนี้ออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศ ในช่วงกรกฎาคม 2563 ขณะนี้หนี้สาธารณะของประเทศ 47% ต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นจากต้นปีที่อยู่ 41% หลายคนมองว่าพุ่งขึ้นมาเยอะ แต่มีความจำเป็นสถานการณ์ประเทศไม่ปกติ เราต้องบริหารจัดการทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ยังอยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้ ซึ่งตามกรอบอยู่ที่ 60% ของจีดีพี แม้ว่าจะกู้ตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท แต่สุดท้ายหนี้สาธารณะอยู่ที่ 57% อยู่ในกรอบที่บริหารจัดการได้

นายดนุชากล่าวว่า หากเทียบกับหนี้สาธารณะของประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา หนี้สาธารณะขึ้นจาก 109% มาเป็น 131% ญี่ปุ่นขึ้นจาก 237% มาเป็น 252% หรือสหราชอาณาจักร ปรับขึ้นจาก 85% มาเป็น 91% ของไทยอยู่ในระดับที่การพุ่งขึ้นไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของประเทศเกิดขึ้น ส่วนแรกส่วนที่เรากู้มาเพื่อขาดดุลงบประมาณ เพราะเรามีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะสังเกตว่าเราจัดงบประมาณแบบขาดดุลมาโดยตลอด ซึ่งรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ส่วนที่เกินต้องกู้เข้ามา ช่วง 10 ปีจัดงบประมาณขาดดุลตั้งแต่ 2.5 แสนล้าน 3 แสนล้าน จนขณะนี้ 5-6 แสนล้าน ขยายตัวขึ้นมาตามขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น

“ถามว่ามีปัญหาหรือไม่ เราพยายามที่ทำงบประมาณเข้าสู่สมดุลให้ได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า เราจะจัดงบประมาณขาดดุลแบบนี้ต่อไปคงไม่ได้” นายดนุชากล่าว

นายดนุชา กล่าวว่า ส่วนที่สอง หนี้ที่กู้มาลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า ขนส่งมวลชน ระบบประปา ระบบน้ำ โปรเจ็กต์เหล่านี้ปีๆ หนึ่งอยู่ที่ 3-5 แสนล้านต่อปี ขึ้นอยู่กับโครงการที่อนุมัติ ซึ่งไม่มีความกังวลมาก เพราะลงในโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้เศรษฐกิจไปข้างหน้าได้ มีการรีเทิร์นทางเศรษฐกิจ

ส่วนที่สาม คือหนี้ที่เกิดจากการทำนโยบาย กึ่งการคลัง คือ รัฐต้องการทำนโยบายเพื่อช่วยเหลือประชาชน ต้องให้กลไกธนาคารของรัฐให้ความช่วยเหลือไปก่อน แล้วตั้งงบประมาณให้ภายหลัง หรือการทำโครงการ PPP ระหว่างรัฐกับเอกชน ในลักษณะ Long-term payment จ่ายประมาณ 10-20 ปีข้างหน้า

ต้องการให้เกิดสิ่งอำนวยความสะดวกเร็วขึ้น เช่น รถไฟฟ้าบางสาย ซึ่งโครงการเหล่านี้ทำได้ในบางช่วงเวลา คงจะทำเยอะไม่ได้เพราะจะไปเบียดฐานะการคลังของเรา ทำให้มีเงินลงทุนในงบประมาณลดลง ทำได้แค่บางโครงการเท่านั้น

“สิ่งที่จะเกิดจากการปรับโครงสร้าง ถ้าเราต้องการลดการขาดดุลของประเทศ ส่วนหนึ่งที่ต้องเริ่มทำวันนี้คือ ปรับโครงสร้างระบบราชการซึ่งใหญ่มาก ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นงบประจำ 80% สูงเกินไป ทั้งที่วันนี้มีเทคโนโลยี มีดิจิทัลเข้ามาดำเนินการได้ ในอนาคตต้องปรับโครงสร้างภาครัฐกระทัดรัดลง เพื่อจะได้มีช่องว่างสำหรับทำงบประมาณเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น และจะลดเรื่องการขาดดุลงบประมาณลงได้ ขณะเดียวกันจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย“ นายดนุชากล่าว

นายดนุชากล่าวว่า ในช่วงระยะสั้น 1-2 ปีข้างหน้า ภาครัฐต้องเป็นกลไกที่จะลงทุนไปก่อน เพราะสถานการณ์ขณะนี้เราได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า รวมถึงโควิด-19 เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ไปลำบากเหลือแต่ภาครัฐอย่างเดียว การดำเนินการในระยะถัดไปจึงต้องปรับโครงสร้างภาครัฐ เพื่อปรับลดงบดำเนินการ และโครงสร้างหนี้ของประเทศไปในตัว

ซึ่งการจัดการหนี้สาธารณะของประเทศนั้น สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ดำเนินการอย่างรอบคอบ มีประสิทธิภาพ ยังไม่ต้องห่วง บริหารจัดการได้ และจะกู้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนหนี้ภาคธุรกิจในต้นปีที่ผ่านมาสินเชื่อธุรกิจขาดใหญ่ พุ่งสูงขึ้นมา โดยขยายตัว 36.5% เทียบกับช่วงปีที่ผ่านมา เกิดจากการผ่อนคลายดอกเบี้ยต่างๆ แต่หากดู SMEs การขยายตัวค่อนข้างลดลงเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าถึงแหล่งเงินลงทุน ศักยภาพของ SMEs ที่ยังมีปัญหาต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอยู่บ้าง จึงต้องมีการแก้ไข

ขณะเดียวกันหนี้ธุรกิจ SMEs ภาครัฐมีมาตรการไปหลายอย่าง ตั้งแต่ 10 มีนาคม 2563 ภาครัฐออกมาตรการไปค่อนข้างเยอะ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สินเชื่อผู้มีรายได้ประจำ สินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว วงเงิน 2.5 แสนล้าน

นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ตอนนี้ใช้ไปแค่ 1 แสนล้านเท่านั้น จะต้องดูปรับเงื่อนไขการเงินการคลังอย่างไร

กำลังหารือกันระหว่าง กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒน์ฯ ทำอย่างไรที่จะปรับปรุงเงื่อนไขให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐให้ได้ ต้องมีการปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเทอมต่างๆ ตอนนั้นที่มีนโยบายออกมาสถานการณ์ไม่น่าจะนาน จึงออกมาเทอมระยะสั้นเกินไปจึงต้องมาปรับเงื่อนไขอีกครั้ง

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนหนี้ครัวเรือน ขณะนี้เราอยู่ที่ 80% ของจีดีพี โครงสร้างหนี้เป็นหนี้ระยะยาว ที่อยู่อาศัย 33.0-34% ส่วนสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอยู่ที่ 27% ต้องดูใกล้ชิด เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการช่วยเหลือหนี้ส่วนบุคคล ให้อยู่รอดต่อไปได้และลดระดับหนี้ลงมา

อัตราการขยายตัวหนี้ครัวเรือนขยายตัวลดลงตั้งแต่กลางปี 2562 เข้มข้นขึ้นในการคัดกรอง และมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ครัวเรือนขยายตัวลดลงมาเรื่อยๆ แต่น่าสนใจว่าคนที่เป็นหนี้ครัวเรือน ส่วนใหญ่เริ่มเป็นหนี้เร็วขึ้น จบปริญญาตรีก็เป็นหนี้แล้ว คือกลุ่มอายุ 22-40 ปี เป็นหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง เป็นที่แปลกใจจบปริญญาตรีสามารถสร้างหนี้สร้างสินได้เยอะ

จึงต้องกลับมาดูว่าเป็นที่ตัวบุคคลหรือ ecosystem ของระบบ เวลาไปซื้อของรูดบัตรเครดิต ซื้อของก็จะมีหมดใช้บัตรนี้ลดเท่านั้น ผ่อน 0% โปรโมชั่นพวกนี้ ทำให้มีการบริโภคมากขึ้น โดยที่เขาอาจจะมีกำลังไม่แข็งแรง เกิดอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง เป็นเรื่องที่เราต้องดูด้วยกันว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สร้างหนี้ที่มีคุณภาพได้ ให้มีสภาพคล่องเหลืออยู่ในการดำรงชีวิต หรือไปลงทุนที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

ส่วนผลกระทบจากหนี้ต่างๆ ไล่ตั้งแต่หนี้ภาครัฐ เมื่อปัญหาหนี้ของประเทศสูงขึ้น อัตราขยายตัวลดลงโดยระบบ แม้มีเศรษฐกิจโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าหนี้เกินความสามารถของประเทศจะจัดการได้ทำให้อัตราการเจริญเติบโตของประเทศลดลง แต่โชคดีของประเทศไทยที่จัดการได้ ผ่อนคลายต่างๆ แทบจะ 100% เหลือเพียงให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทำให้คนสามารถหารายเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้

ส่วนเม็ดเงินกู้ 4 แสนล้านฟื้นฟู จะใช้ในโครงการการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ในช่วงปีนี้ และยังมีมาตรการสำหรับคนที่ตกงานก็จะมีเข้ามาเรื่อยๆ ภาครัฐพยายามอนุมัติโครงการกระจายเม็ดเงินไปทั่วประเทศ เกษตรกร ชุมชน มีโอกาสสร้างรายได้ในชุมชนให้เขามีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญต้องช่วยนำพาประเทศที่พ้นวิกฤตไปได้ สิ่งหนึ่งที่ช่วยในการทำให้เรื่องหนี้ของเราไม่ขยายตัวมากขึ้นในอนาคต คงต้องใช้หลักที่เราเคยได้ยินมา สามารถประยุกต์ใช้ในระบบบุคคลและองค์กร คือหลักเศรษฐกิจพอเพียง พอประมาณ ไม่มีความต้องการที่เกินตัวเกินไปมีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้จ่ายภาระหนี้ต่างๆ จะดีขึ้น

ไม่ได้หมายความว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้แล้วไม่ใช้จ่าย จะบริหารความเสี่ยงตนเอง ไม่ใช่จ่ายเกินความสามารถที่เรามี ขณะเดียวกัน ตอนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ภาครัฐ คงไม่ใช่คนเดียวที่นำพาทุกภาคส่วนให้พ้นวิกฤต แต่เราต้องช่วยกันนำพาประเทศพ้นวิกฤตให้ได้” นายดนุชากล่าว