“สุพัฒนพงษ์” แท็กทีม ธปท.-แบงก์พาณิชย์ ฝ่าวิกฤตหนี้ 7 ล้านล้าน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

“สุพัฒนพงษ์” แท็กทีม ธปท.-แบงก์พาณิชย์ ฝ่าวิกฤตหนี้ 7 ล้านล้าน อัดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งท้ายปี 2563

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2563 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทางเลือก ทางรอด ประเทศไทย” ในงานสัมมนา ทางเลือก ทางรอด ฝ่าวิกฤต “หนี้” จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ขอขอบคุณคนไทยทุกคนที่ร่วมมือกับรัฐบาล ควบคุม รักษาวินัยเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเลื่อไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ระบาด เป็นข้อดีและจุดเด่นของประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่ทางรอดในการฝ่าวิกฤตหนี้

“ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีความจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การควบคุมเป็นไปได้อย่างดี แน่นอนเดือดร้อนทุกภาคส่วน รัฐบาลใช้ทุกมาตรการที่มีเพื่อเยียวยาสภาพคล่องเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ เงินจำนวนไม่น้อยที่รัฐบาลใช้ลงไปประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท เช่น มาตรการคนหาเช้ากินค่ำและเกษตรกร 33 ล้านคน วงเงิน 4 แสนกว่าล้านบาท

ส่วนสภาพคล่องจาก พ.ร.ก.สินเชื่อซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท จำนวน 1 แสนกว่าล้านบาท สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ 1 แสนกว่าล้านบาท รวมทั้งสิ้น 2 แสนกว่าล้านบาท รวมถึงมาตรการลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าน้ำค่าไฟฟรี จำนวน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อล็อกดาวน์ให้เรามีวันนี้เพื่อฟื้นฟูและเริ่มกันใหม่”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า สินเชื่อซอฟต์โลนจากธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจ และกระทรวงการคลัง และมาตรการพักชำระหนี้ 6 เดือน เพื่อให้มีสภาพคล่องมากขึ้น และรักษาการจ้างงานในวันนี้

“วันนี้ยอดหนี้ทั้งหมด 7 ล้านล้านบาท แต่มีผู้เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ 12.8 ล้านคน ต้องมาหาทางรอดกัน ถึงแม้เมื่อเฉลี่ยหนี้ต่อหัวไม่เยอะ แต่จำนวนผู้เกี่ยวข้องมาก คือ ผู้ประกอบการ หรือลูกหนี้ อย่างไรก็ตามจำนวนหนี้พักหนี้เราเป็นห่วงการแก้ปัญหาหนี้จำนวนมากจะน้อยลง เพราะเมื่อรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์เป็นลำดับ 6 ระยะ บ้านเมืองจะกลับสู่ปกติ การบริโภค การใช้จ่าย ดีขึ้น ตัวเลขดัชนีการผลิต การบริโภคดีขึ้น รวมถึงสถานะทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐยังแข็งแกร่ง”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เศรษฐกิจขณะนี้ไม่เหมือนกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 แต่วันนี้ยากตรงเศรษฐกิจโลก ซึ่งปลายปี 2020 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะการรักษาดีขึ้น อัตราการเสียชีวิตน้อยลง การค้นพบวัคซีน ยารักษาพัฒนาขึ้น การรักษาระยะห่างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราจะฟื้นได้ในปลายปี 64

“แต่เรายังเรียกว่าความไม่แน่นอน จึงต้องสะสมความหวังและความเชื่อ ถ้าเราอยู่กับความกลัว เราอยู่กับที่จะไม่แก้ปัญหาปัญหาหนี้ ถ้าท่านคิดว่าต้องมีวันจบ ทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารพาณิชย์ และ ธปท. ต้องสร้างความเชื่อและความหวัง ภายใน 1-2 ปี เราจะกลับสู่ปกติ”

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ตนพยามยามพูดคุยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพราะลูกหนี้ขนาดเล็กและย่อยให้ช่วยส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินเห็น โดยการจ่ายเงินเร็วขึ้น สร้างสภาพคล่องให้กับคนตัวเล็ก คนตัวใหญ่ประคับประคอง เพื่อรักษาการจ้างงาน โดยขอให้ช่วยให้ข้อมูลกับสถาบันการเงิน ว่า ใครควรได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริง

“ปรับโครงสร้างหนี้เทาๆ คือ หยุดประกอบการ หรือกระแสเงินสดต่ำกว่ารายจ่าย แต่ต้องมีความเชื่อว่าโรคโควิดมีวันจบ จะแยกแยะได้ว่า ใครควรช่วย ใครต้องช่วยตัวเอง เราถึงจะช่วย ซึ่งจะเป็นวิถีที่ทำให้ความห่วงว่าวิกฤตจะหมดไป เพราะถ้าท่านคิดว่า สภาวะอย่างนี้ต้องหมด จะเป็นจุดก้ำกึ่งที่จะตัดสินใจ

แต่ถ้าท่านทำไม่ดีจะนำไปสู่การว่างงาน การรักษาการจ้างงานทำไม่ได้ เรื่องก็จะกลับมาสู่รัฐบาล ซึ่งเราเตรียมไว้หมดแล้ว เตรียมสภาพคล่องในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี มาตรการต่าง ๆ ที่เตรียมมาไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว แต่จะเป็นการร่วมกันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและให้สถานะของลูกหนี้ดีขึ้น นำไปสู่การชำระหนี้ รวมถึงมาตรการค่อยๆ เปิดประเทศ การดำเนินธุรกิจจะทำได้มากขึ้น นักลงทุน นักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศได้มากขึ้น”