‘เอเซีย พลัส’ เก็งกำไร 8 หุ้นค้าปลีก-อสังหาฯ อานิสงส์ช้อปช่วยชาติ

ภาพประกอบข่าว ช้อปช่วยชาติ
Shoppers shelter under an umbrella as they walk past sale signs in the rain on Oxford Street in London on June 18, 2020, as some non-essential retailers reopen from their coronavirus shutdown. (Photo by Tolga Akmen / AFP)

บล.เอเซีย พลัส เปิดโผ 8 หุ้นค้าปลีก-อสังหาฯ มีแววได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ‘SPVI-COM7-JMART-TKN-SAPPE-CPN-CRC-SF’ แนะนักลงทุนรอฟังความชัดเจนจากประชุม ศบศ.บ่ายวันนี้ เก็งแนวโน้มคนเดินห้างเพิ่มขึ้นหนุนยอดขาย

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายวันนี้ (7 ต.ค.63) จะมีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจโควิด-19 (ศบศ.) โดยคาดว่า ศบศ.จะพิจารณารายละเอียดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ ช้อปช่วยชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ดี แนะนำนักลงทุนติดตามความชัดเจนของระยะเวลาดำเนินมาตรการ และเม็ดเงินลดหย่อนภาษีต่อไป

ทั้งนี้ จากสถิติย้อนหลังสำหรับหุ้นที่ได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มท่องเที่ยว +3.90% กลุ่มค้าปลีก +1.43% กลุ่มขนส่ง +1.22% และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ +1.14% ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) +0.58%

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหุ้นในกลุ่มท่องเที่ยวมูลค่า (Valuation) ปรับขึ้นเกินกว่าราคาเหมาะสม (Fair Value) ที่ฝ่ายวิจัยแนะนำไปแล้ว จึงแนะนำนักลงทุนเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีกซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์รองลงมา โดยหุ้นกลุ่มค้าปลีกที่ได้อานิสงส์ แบ่งเป็นอานิสงส์ทางตรง ได้แก่ SPVI COM7 JMART TKN และ SAPPE

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกที่ได้อานิสงส์ทางอ้อม ได้แก่ CPN CRC และ SF ซึ่งคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลให้จำนวนผู้เข้าใช้บริการห้างสรรสินค้า (Traffic) ปรับเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้ยอดขายของร้านค้าปลีกภายในห้างสรรพสินค้าปรับขึ้นเช่นกัน ลดแรงกดดันเรื่องการปรับลดค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภายในห้าง

ส่วนรายเอียดมาตรการจากกระแสข่าวก่อนหน้านี้ จะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนทุกกลุ่ม ทั้งล่าง กลาง และบน ได้แก่

  • มาตรการที่ออกมาแล้วในเดือน ก.ย. ได้แก่ โครงการ “คนละครึ่ง” และการเพิ่มวงเงิน 500 บาท ในบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวมกัน 5.1 หมื่นล้านบาท (ราว 0.5% ของจีดีพี)
  • เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) ครม.อนุมัติมาตรการส่งเสริมการจ้างาน 6 หมื่นตำแหน่ง วงเงิน 1.63 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละตำบลจะมี 1 มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)
  • มาตรการที่เตรียมจะออกมาในช่วงเดือน ต.ค.- ธ.ค. ได้แก่ การประชุม ศบศ.วันนี้ที่จะพิจารณามาตรการคล้ายๆ ช้อปช่วยชาติ กล่าวคือให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำใบเสร็จค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า หรือบริการที่กำหนด มาลดหย่อนภาษี (ในอดีตลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท)

ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ทำการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า มาตรการช้อปช่วยชาติช่วยให้มีวงเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจราว 1.7-2.25 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์  ล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเตรียมเสนอ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ ถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 2 มาตรการ ดังนี้

  • พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยครึ่งหนึ่ง โดยขอให้กระทรวงการคลังชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ เช่น อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันคงที่ 2.99% จะเสนอให้คลังช่วยชดเชยให้ 1.50%
  • พิจารณาให้สินเชื่อ “Two-GEN” ที่สามารถผ่อนได้ 2 รุ่นอายุคน (Generation) หรือนานสูงสุด 70 ปี วงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเองได้เร็วขึ้น

โดยรวมถือเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น AP และ ORI