เบื้องหลังดังทะลุเปรี้ยง ‘คนละครึ่ง’ เจ้าพ่อบิ๊กดาต้า วิศวะจุฬาฯ คอนเนกชั่น

คนละครึ่ง.

เบื้องหลังความสำเร็จ คนละครึ่ง สมคิด-ปิติ-ดนุชา เจ้าพ่อบิ๊กดาต้าและวิศวะ จุฬา คอนเนกชั่น

บุคคลเบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ “คนละครึ่ง” ของรัฐบาล ที่กระหึ่มอยู่ในขณะนี้ คือ สมคิด จิรานันตรัตน์ แห่งธนาคารกรุงไทย และ ปิติ ตัณฑเกษม แห่งธนาคารทหารไทย รวมทั้ง ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ อันเป็นเครือข่าย “วิศวะ จุฬาฯ คอนเนกชั่น”

โครงการ “คนละครึ่ง” ดังทะลุเปรี้ยง ได้ยินทั่วทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน ทุกซอกมุมของตลาดทั้งใน-นอกเมือง ทั่วประเทศ

เฟสแรกมีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้ว 10 ล้านคน ร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ 8.9 แสนร้าน เงินสะพัดกว่า 3 หมื่นล้านบาท

ภายใต้การกดจ่ายของประชาชนวันละ 150 บาท/รัฐบาลจ่ายให้ร้านค้า 150 บาท รวมจ่าย 2 ฝ่ายวันละ 300 บาท/คน

ในเฟส 2 รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 16 ธันวาคม 2563 อีก 5 ล้านคน

คราวนี้รัฐเพิ่มวงเงินให้ผู้ลงทะเบียนเฟสแรก 10 ล้านคน อีกคนละ 500 บาท รวมเป็น 3,500 บาท

และผู้ที่จะลงทะเบียนในเฟส 2 อีก 5 ล้านคน ได้คนละ 3,500 บาท

โดยรวมจะทำให้ประชาชน 15 ล้านคน ได้เงินใช้จ่ายสูงสุด 2 เฟส รวม 3,500 บาท/คน รวม 6 เดือน

เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ “คนละครึ่ง” ไม่ใช่เพียงบุคคลเบื้องหน้า-หัวขบวนเครือข่าย “วิศวะ จุฬาฯ คอนเนกชั่น”  ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ อย่าง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ผู้ควบตำแหน่ง รมว.พลังงาน

หากว่าเขาเปิดโอกาสให้ทีมงานคุณภาพ  “วิศวะ จุฬาฯคอนเนกชั่น” ร่วมคิด-ร่วมทำ ต่อยอดนโยบายร่วมกันจ่าย  หรือ co-pay เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ให้มีความเป็นรูปธรรม

โดยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย ที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นำไปใช้ซื้อของใช้ในร้านค้าได้ทั่วทุกตลาด

มีบุคคล 3 คน ที่ “สุพัฒนพงษ์” ให้เครดิต 1 ในนั้นคือ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารทหารไทยหรือ “TMB” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ผู้เป็นศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เชื่อมโยงกับ “นายสมคิด จิรานันตรัตน์” ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มระดับชาติ อย่างโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” และ “ชิม ช้อป ใช้” รวมทั้ง แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ”

นายสมคิด เคยพูดถึง “โลกมิติใหม่” หลังโควิด-19 คือ “โลกดิจิทัล คือ โลกที่ไม่ต้องเจอตัวตนกันเลย แต่รู้จัก เข้าใจ รู้ใจ ทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายได้ ไม่ต้องเดินทางไปมาหาสู่กัน โลกที่สะอาดปราศจากเชื้อ แต่เป็นโลกที่หมุนเร็ว มีต้นทุนทางกายภาพน้อย ต้นทุนการประกอบธุรกิจต่ำ เป็นโลกใหม่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถอยู่ในโลกแบบนี้ได้ด้วยความสามารถที่เท่าเทียมกัน อาจทำให้ผู้ที่มั่งมี และผู้ที่ยากจนอยู่ห่างกันยิ่งขึ้น”

เขาเชื่อว่า “คนไทยเก่ง ๆ ที่มีอยู่ 5 พัน ถึง 1 หมื่นคน เอามารวมกันเพื่อสร้างแพลตฟอร์มประเทศไทย สู้กับ Facebook สู้กับ Google สู้กับอาลีบาบาได้”

สนธิกำลังกับเสนาธิการฝ่ายเศรษฐกิจ อย่าง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่อเนื้อของชาว “วิศวะ จุฬาฯ” อีกคน ทำหน้าที่ต่อยอดนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และคิดคำนวณวงเงินงบประมาณของรัฐบาล

นอกจากนี้ ยังต้องนำโครงการ-ฐานข้อมูล บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปเชื่อมโยงการพัฒนาระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงยุทธศาสตร์ชาติ อีกหลายโครงการ

เมื่อบุคคลทั้ง 3 ซึ่งอยู่กันคนละจุด แต่มีจุดร่วมคือ “วิศวะ จุฬาฯ คอนเนกชั่น” โครงการระดับชาติ จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก และดังทะลุเปรี้ยงชั่วข้ามคืน ในโครงการประชานิยมสมัยใหม่ ในนามของการร่วมจ่ายระหว่างภาครัฐและประชาชน “คนละครึ่ง” จากเฟส 1 ถึง 2 เฟส

“นายสุพัฒนพงษ์”  ไม่หยุดเพียงเท่านี้ เขายังเตรียมการต่อยอดบิ๊กดาต้า จากฐานข้อมูลผู้มาลงทะเบียนร้านค้าเฉียดล้านแห่ง เชื่อมโยงข้อมูลการใช้จ่ายของประชาชน 15 ล้านคน ไปสู่การจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับร้านค้าขายออนไลน์ของประเทศ เพื่อเทียบชั้นกับอีคอมเมิร์ชชั้นนำ ที่พยายามเข้าถึงลูกค้าคนไทยทุกหลังคาเรือน

นโยบายประชานิยมยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ประสบความสำเร็จ ได้ด้วยเครือข่ายคนการเมือง-นักธุรกิจและเทคโนแครต ฉันใด นโยบาย “ร่วมจ่าย” หรือ Co-pay ที่สำเร็จดังทะลุ-ทะลวง ทุกครัวเรือน ก็สำเร็จได้ด้วยเครือข่าย “วิศวะ จุฬาฯ” ฉันนั้น