6 ความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2564 (1)

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์ 
[email protected]

ความท้าทายที่ 1 รับมือการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 (COVID-19)

สถานการณ์ที่ จ.สมุทรสาคร เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการระบาดระลอกใหม่ และต้องลุ้นกันวันต่อวัน ทั้งในแง่ของจำนวนและชื่อจังหวัดที่โผล่ออกมาใหม่

จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดที่แรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่มากและแออัด ตามข้อมูลล่าสุดของกระทรวงแรงงานมีมากถึง 233,000 คน จ.สมุทรสาครยังเป็นตลาดกลางของการซื้อขายอาหารและวัตถุดิบ โอกาสแพร่เชื้อจึงมีสูง ความเสี่ยงต่อคนไทยจึงสูงตามไปด้วย

จ.สมุทรสาคร มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 6 ของประเทศ เล็กกว่ากรุงเทพฯประมาณ 10 เท่า มีประชากรเกือบ 6 แสนคน ถ้ารวมคนต่างด้าวด้วยก็ประมาณ 8 แสนกว่า โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมถึง 72% ค้าส่งค้าปลีก 12% ที่เหลือเป็นบริการอื่น ๆ และเกษตรกรรม และถ้าดู SMEs ซึ่งมีจำนวนกว่า 37,000 แห่ง (สูงเป็นอันดับที่ 27 ของประเทศ) มีการจ้างงานสูงถึง 275,000 คน (สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ) แต่ถ้าคำนวณการจ้างงานเฉลี่ยต่อ SMEs จะตกอยู่ประมาณ 7 คนต่อ 1 SMEs (สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ) ดังนั้น โครงสร้างของการประกอบอาชีพ (เฉพาะสัญชาติไทย) จึงหนักไปทางค้าขายเกือบ 40% และรับจ้างกว่า 30% ส่วนแรงงานต่างด้าวหนักไปทางโรงงานอุตสาหกรรม

เมื่อ จ.สมุทรสาคร เจอมาตรการ lockdown จึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจังหวัดอย่างมาก …ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นความท้าทายของระบบสาธารณสุข ความรวดเร็วของการเยียวยา และการจัดทำและเชื่อมโยงฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวเชิงลึก

ความท้าทายที่ 2 ประคับประคองร้านค้ารายเล็กรายน้อยให้อยู่รอด (MSME)

วิสาหกิจรายย่อย ย่อม กลาง (MSME) มีการจ้างงานไม่เกิน 5 คน 50 คน และ 200 คน ตามลำดับ ข้อมูลล่าสุดที่มี พบว่า MSME มีจำนวน 3.1 ล้านราย แบ่งเป็น รายย่อย 2.6 ล้านราย รายย่อม 4.1 แสนราย รายกลาง 4.4 หมื่นราย ในขณะที่รายใหญ่มีประมาณ 14,000 ราย ในขณะที่ LE จ้างงาน 5.3 ล้านคน

ในด้านการจ้างงาน พบว่า MSME มีจ้างงานประมาณ 12.1 ล้านคน แบ่งเป็น รายย่อย 5.4 ล้านราย รายย่อม 4.2 ล้านคน รายกลาง 2.4 ล้านคน …ส่วนตัวผมเป็นห่วง MSME มากกว่า เพราะ

1.เมื่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยชะลอตัว บวกกับมาตรการ lockdown และ work from home ผู้ประกอบการ MSME ที่อยู่ในสาขาขายส่งขายปลีก 1.3 ล้านราย ที่พักแรมร้านอาหาร 3.7 แสนราย ก่อสร้าง 1.3 แสนราย ขนส่ง 7 หมื่นราย และบันเทิงและนันทนาการ 3.6 หมื่นราย จะอยู่รอดได้ยากหากสถานการณ์ยืดเยื้อ 2.หากนับรวม MSME ของจังหวัดที่ถูก lockdown และเสี่ยงต่อการ lockdown 25 จังหวัด (ณ วันที่ 23 ธ.ค. 63 เวลา 12.00 น.) จะมีประมาณ 1.4 ล้านราย มีการจ้างงานถึง 7 ล้านคน ครอบคลุม 52% ของการจ้างงาน MSME ทั้งประเทศ 12.1 ล้านคน

ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการประคับประคองให้ MSME อยู่รอด รวมทั้งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลว่า ในแต่ละ MSME มีใครเป็นลูกจ้างบ้าง อยู่ในระบบประกันสังคมหรือไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือไม่ ได้รับสวัสดิการทางใดบ้าง ท้ายที่สุด เราจะเจอผู้ตกหล่นจำนวนหนึ่งที่ควรจะช่วยเหลือ

ความท้าทายที่ 3 อัดฉีดเม็ดเงินหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจจังหวัดท่องเที่ยว (Tourism)

ข้อมูลปี 2018 พบว่า เศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็นเม็ดเงิน 63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) รองจากสหรัฐ 214 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.8 ล้านล้านบาท) สเปน 74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท) และฝรั่งเศส 67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท)

ผมถามต่อว่าในเชิงพื้นที่พบว่า จริง ๆ แล้ว 85% ของ GDP ที่เกี่ยวข้องกับสาขาท่องเที่ยว 1.9 ล้านล้านบาท (สาขาท่องเที่ยว หมายถึง สาขาโรงแรม ที่พัก ภัตตาคาร ร้านอาหาร รวมกับสาขาคมนาคมขนส่ง) กระจุกตัวอยู่กับจังหวัดเพียง 10 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ กรุงเทพฯ 48.1% จ.สมุทรปราการ 9.8% จ.ภูเก็ต 8.1% จ.ชลบุรี 7.7% จ.สุราษฎร์ธานี 3.0% จ.พังงา 2.1% จ.เชียงใหม่ 2.0% จ.กระบี่ 1.8% จ.ระยอง 1.4% และ จ.สงขลา 1.1%

ซึ่งจังหวัดเหล่านี้หวังพึ่งเม็ดเงินท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของจังหวัด และเมื่อจังหวัดที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบริโภคและการลงทุนอ่อนแรงลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะไปได้ไม่เต็มที่

ฉะนั้น วิกฤตพอสมควรสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวใน 10 จังหวัดดังกล่าว แม้จะกระตุ้นให้ไทยเที่ยวไทย แต่เม็ดเงินที่ใช้จ่ายไม่มากพอที่จะฉุดเศรษฐกิจให้เข้าสู่แนวโน้มปกติ


ดังนั้น ประเด็นนี้จึงเป็นความท้าทายด้านการกระจายรายได้ภาคการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่น การจัดทำฐานข้อมูลผู้เยี่ยมเยือนเป็นรายอำเภอหรือตำบล (รายจังหวัดมีอยู่แล้ว) และเชื่อมโยงกับข้อมูลของผู้ประกอบการในพื้นที่ เช่น จำนวนห้องพัก มีลูกจ้างกี่คน เป็นต้น รวมถึงการนำฐานข้อมูลเราเที่ยวด้วยกันมาใช้ประโยชน์