กสิกรไทย ห่วงเศรษฐกิจไทยเสียโอกาสฟื้นตัว หากฉีดวัคซีนป้องกันโควิดล่าช้า

ฉีดวัคซีน
Photo by ADEK BERRY / AFP

“กสิกรไทย” ห่วงเศรษฐกิจไทยเสียโอกาสฟื้นตัว หากฉีดวัคซีนป้องกันโควิดล่าช้า ชี้ส่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ทันปีนี้ ประเมินเทรนด์เงินบาทอ่อนค่าถึงกลางปีที่ 31.25 บาท ก่อนทยอยแข็งค่าในครึ่งปีหลังจบสิ้นปีที่ 29.75 บาท

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเมินว่าค่าเงินบาทช่วงนี้จนถึงไตรมาส 2 ของปี จะยังคงอ่อนค่า โดยมีแนวโน้มอ่อนค่าไปถึงระดับ 31.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปี 2564 คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากคาดว่าครึ่งปีหลังจะเริ่มแข็งค่าขึ้นจากการทยอยฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมา เราได้ปรับคาดการณ์เงินบาทสิ้นปีไปแล้ว จากเดิมตอนต้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ 29.25 บาท ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 29.75 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 50 สตางค์ โดยเรามองว่าปีนี้ไทยจะยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอยู่ สะท้อนความไม่สมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่การออมสูงกว่าการลงทุน ซึ่งหากการลงทุนเอกชนไม่ดีขึ้น การส่งออกก็จะลำบาก” นายกอบสิทธิ์กล่าว

นายกอบสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล่าช้ากว่าประเทศอื่น ๆ จะทำให้เสียโอกาสในการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ

นางสาวพีรพรรณ สุวรรรรัตน์ ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มว่า ไทยจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ทันในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งต้องติดตามว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

ขณะที่ช่วงที่ผ่านมา การที่เงินบาทอ่อนค่าค่อนข้างมาก มีปัจจัยหลักมาจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากตลาดกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อ และกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะลดเม็ดเงินมาตรการ QE ลงเร็วกว่าที่คาดไว้เดิม ซึ่งการที่บอนด์ยีลด์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์ของไทยปรับเพิ่มขึ้นตาม

โดยแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนในระยะข้างหน้า จะขึ้นอยู่กับปัจจัยเรื่องการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศว่าทำได้เร็วแค่ไหน เนื่องจากจะมีผลต่อการเปิดประเทศ และการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศที่ฉีดวัคซีนได้เร็วสุดคือ อิสราเอล ขณะที่สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ก็เร่งฉีดมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าจะมีมาตรการเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตามมาอีก โดยมีเม็ดเงินถึง 3-4 ล้านล้านดอลลาร์ มากกว่า QE กว่าเท่าตัว

“ช่วงกลางปีนี้ เรายังมองมีปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 31-31.25 บาท เนื่องจากไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเป็นช่วงฤดูกาลจ่ายเงินปันผล ที่นักลงทุนต่างชาติจะมีการส่งเงินกลับไปบ้านด้วย แต่หลังจากนั้นในครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวดีขึ้น จะทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยปลายปีเราคาดว่าจะอยู่ที่ 29.75 บาท” นางสาวพีรพรรณกล่าว