ออมสินลุยธุรกิจ “ขายฝากที่ดิน” ชูดอกเบี้ยต่ำ ช่วยประชาชนฐานราก

แบงก์ออมสิน

ออมสิน เตรียมลุยธุรกิจขายฝากที่ดิน ดอกเบี้ยต่ำ ต่อยอดสินเชื่อ “มีที่ มีเงิน” ช่วงปลายปี’64 มุ่งช่วยเหลือคนระดับฐานรากตามนโยบายรัฐ หวังดึงดอกเบี้ยในระบบสินเชื่อที่ดินลงมาต่ำกว่า ระดับ 20-30% พร้อมเดินหน้าเป็นธนาคารเพื่อสังคม หนุนสินเชื่อจ้างงาน-สร้างอาชีพ

วันที่ 24 มีนาคม 2564 นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงปลายปี 2564 นี้ ธนาคารมีแนวคิดที่จะเปิดให้บริการธุรกิจสินเชื่อที่เกี่ยวกับที่ดิน เพิ่มเติมจากที่เปิดให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ไปแล้ว เพื่อต้องการช่วยเหลือประชาชนฐานราก หรือผู้ประกอบการธุรกิจที่มีปัญหาสภาพคล่อง ให้สามารถนำที่ดินเข้ามาใช้เป็นหลักประกันขอเงินกู้โดยคิดดอกเบี้ยไม่สูงเกินไปตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับรูปแบบการทำธุรกิจจะมีการแยกออกมาจากโครงสร้างของธนาคาร เพื่อให้บริหารได้คล่องตัว แต่จะเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทอื่น หรือมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเองหรือไม่นั้นยังไม่ได้ลงรายละเอียด

“จากการที่ธนาคารให้บริการสินเชื่อ มีที่ มีเงิน ไปช่วงต้นปีพบว่ามีความต้องการใช้สินเชื่อจำนวนมาก และมีแจ้งขอวงเงินกู้เข้ามาเต็มอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีคนที่กำลังเดือดร้อนอยู่อีกเยอะ ดังนั้นธนาคารจึงมีแนวคิดขยายให้บริการสินเชื่อที่ดิน ช่วยประชาชนเพิ่มเติมอีก ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนมีแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมไม่เสียดอกเบี้ยเยอะเกินไป และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของออมสินในการเดินหน้าไปสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม”

ขณะที่ปัจจุบัน การขายฝากที่ดิน หรือให้สินเชื่อเกี่ยวกับที่ดินมีการคิดดอกเบี้ยกันค่อนข้างสูง โดยหากเป็นการขายฝากที่ดินกับนอกระบบจะคิดดอกเบี้ยถึง 20-30% ต่อปี แต่ถ้าเป็นการขอสินเชื่อที่ดินกับนอนแบงก์ หรือผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์จะคิดดอกเบี้ย 15% ซึ่งหากธนาคารคิดดอกเบี้ยถูกลง ก็ถือว่าจะช่วยลดภาระให้กับประชาชนได้มาก และยังสามารถดึงดอกเบี้ยในระบบสินเชื่อที่ดินให้ลดลงมาได้อีกด้วย

นายวิทัยกล่าวว่า ในครึ่งปีหลังออมสินวางแผนเดินหน้าเป็นธนาคารเพื่อสังคมเพิ่ม โดยเน้นการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง หรือต้องย้ายถิ่นฐานกลับสู่ชนบทมีเป้าหมายนับหมื่นครัวเรือน โดยรูปแบบช่วยเหลือมีประมาณ 4-5 โครงการ

อาทิ การร่วมมือกับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปช่วยสร้างอาชีพให้กับคนว่างงานที่อยู่ในเมือง หรือในชุมชน เช่น แฟรนไชส์ขายลูกชิ้นทอด ขายเครื่องดื่ม ขายขนม ขายก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง ราคาไม่สูง และไม่ต้องใช้ทักษะในการบริหารที่ซับซ้อน โดยธนาคารพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือเงินกู้ให้

นอกจากนี้ จะร่วมมือกับสถาบันอาชีวะในการนำนักศึกษาอาชีวะ ลงพื้นที่ไปช่วยฝึกสอนวิชาชีพประเภทต่างๆ แก่ชาวบ้านในชุมชน เช่น สอนให้มีอาชีพเป็นช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ช่างปูน ช่างไม้ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนมีวิชาชีพติดตัว สามารถออกไปรับจ้างประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้

“ตลอดปี 64 ธนาคารยังเดินหน้าการเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงไตรมาสแรกได้ให้สินเชื่อฉุกเฉิน และสินเชื่อมีที่มีเงินไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาทสำหรับช่วยเหลือประชาชน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด รวมถึงยังเปิดตัวสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ด้วย

ส่วนไตรมาสสองธนาคารจะเร่งดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ให้กลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติ โดยจะช่วยยืดหนี้ ลดเงินงวด รวมถึงลดดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้” นายวิทัยกล่าวกล่าว และว่า

ขณะนี้ได้ทำไปแล้ว 5 แสนราย และน่าจะมีอยู่อีก 2-3 แสนรายที่จะต้องเข้าไปดูแลเพิ่ม ส่วนครึ่งปีหลังภาพของธนาคารจะเข้าไปช่วยการสร้างงานสร้างอาชีพ และให้บริการธุรกิจตามปกติเพื่อหารายได้เลี้ยงองค์กรด้วย