ธปท.กดปุ่มสินเชื่อฟื้นฟู/พักทรัพย์ พักหนี้ 26 เม.ย.นี้ ชี้ยืดหยุ่น ลูกหนี้ใหม่-เดิม

แบงก์ชาติ

ธปท.พร้อมปล่อยสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เปิดสถาบันการเงินยื่นคำขอกู้ 26 เม.ย.นี้ ยันมาตรการยืดหยุ่น ครอบคลุม และตอบโจทย์ เผยวงเงินจำกัด ดึง บสย.ค้ำประกัน 40% หนุนลูกหนี้เข้าถึงวงเงิน ด้านพักทรัพย์ พักหนี้ กำหนดราคาซื้อคืน-สิทธิซื้อคืนชัดเจน ลดความกังวลลูกหนี้ ชี้วงเงินไม่พอสลับโยกไปมาได้

วันที่ 21 เมษายน 2564 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังคณะมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 อนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ)

และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกประกาศจำนวน 2 ฉบับ เพื่อกำหนดขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ หลักการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจภายใต้ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอกู้เงินจาก ธปท. ตามมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟูและโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ทั้งนี้ ภายในวันที่ 26 เมษายนนี้ ธปท.จะเปิดรับคำขอสินเชื่อ โดยคาดว่าสินเชื่อจะทยอยเข้ามา

สุวรรณี เจษฎาศักดิ์

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ธปท.ได้ปรับแก้ไขข้อจำกัดเดิม เพื่อเปิดให้ลูกหนี้ได้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ทั้งในส่วนของวงเงินสินเชื่อที่ขยายจาก 20% ของยอดคงค้าง มาเป็น 30% ของวงเงินแต่ละสถาบัน และขยายขอบเขตให้ลูกค้าใหม่ก็สามารถเข้าโครงการนี้ได้โดยวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท

รวมถึงมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่มากขึ้น (Credit Cost) เฉลี่ยอยู่ที่ 5% โดยในช่วง 2 ปีแรกคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2% โดยในช่วง 6 เดือนแรกรัฐบาลจะช่วยชดเชยให้ รวมถึงห้ามธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด

และนำกลไกของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันเพิ่มเติมภายใต้พอร์ตการันตีอยู่ที่ 40% ซึ่งถือว่าสูงจากเดิมที่บสย.จะค้ำประกันอยู่ที่ 30% นอกจากนี้ ธปท.มีการดีไซน์การค้ำประกันให้มีความยืดหยุ่นตามลักษณะความเดือดร้อนของธุรกิจแบบรายตัว ซึ่งจะช่วยกระจายสินเชื่อไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยจะมีค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ทั้งนี้ รัฐบาลจะช่วยชดเชยค่าธรรมเนียมให้ 3.5% ในปีที่ 3-7

“เราเปิดให้ขอสินเชื่อในวันจันทร์หน้าที่ 26 เม.ย.นี้ แต่ตัวเลขสินเชื่อคงทยอยมา เพราะธนาคารจะต้องไปเจรจากับลูกหนี้ด้วย ส่วนวงเงินที่มีจำกัด เราต้องการให้การกระจายได้ทั่วถึงมากที่สุด จึงออกแบบให้มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และตอบโจทย์มากที่สุด และหากวงเงิน 2.5 แสนล้านบาทไม่เพียงพอก็สามารถโยกวงเงินได้ ซึ่งต้องรอมอนิเตอร์ความต้องการจะมีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งครั้งนี้เรายืดหยุ่นให้ลูกหนี้สามารถกู้ได้ 3 ครั้ง โดยไม่เกิน 30% จากเดิมที่กู้ได้เพียงครั้งเดียว ดังนั้น การใช้วงเงินจะทยอยมาคงไม่มาครั้งเดียว”

สำหรับโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” หรือ Asset Warehousing ภายใต้วงเงิน 1 แสนล้านบาท ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมีหลักประกันอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการนี้เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบธุรกิจและมีโอกาสกลับมาซื้อคืนทรัพย์ได้ภายในระยะ 3-5 ปี และระหว่างทางสามารถเช่าทำธุรกิจต่อได้

โดยค่าเช่ายังสามารถนำมาหักมูลหนี้ได้ เช่น มีหนี้ 10 ล้านบาท ระหว่างทางเช่าไป 1.5 ล้านบาท ลูกหนี้สามารถนำ 1.5 ล้านบาทมาหักมูลหนี้ได้ โดยราคาซื้อคืนจะเป็นราคาเดียวกับในวันที่ตีโอนชำระหนี้ ซึ่งธนาคารจะบวกค่าดูแลรักษา (caring cost) อยู่ที่ 1% เท่านั้น โดยกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรจะยกเว้นภาษีตีโอนทรัพย์ชำระหนี้ทั้งขาไปและขากลับให้

อย่างไรก็ดี หากลูกหนี้มีหนี้มากกว่าทรัพย์หลักประกัน ธปท.กำหนดให้มูลหนี้ที่เหลือให้ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ เช่น มีหนี้ 10 ล้านบาท มูลค่าหลักประกัน 7 ล้านบาท มูลหนี้ที่เหลืออีก 3 ล้านบาท ธนาคารจะใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ และกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ธนาคารไม่สามารถนำทรัพย์ไปขายต่อได้ โดยลูกหนี้ยังคงมีสิทธิในทรัพย์และสามารถซื้อคืนได้ นอกจากลูกหนี้จะแสดงความจำนงต่อธนาคารไม่ซื้อคืนทรัพย์ เป็นต้น

“มาตรการนี้ช่วยลดภาระผู้ประกอบธุรกิจได้ โดยไม่ให้เกิดการกดราคาในตลาดเกิดขึ้น โดยจะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับลูกหนี้ และยังช่วยประคองสภาพคล่องและเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดี ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างพูดคุยกับลูกค้า ซึ่งต้องยอมรับว่าโครงการนี้เป็นโครงการสมัครใจ เพราะก่อนหน้านี้ลูกหนี้กังวลว่าธนาคารจะมายึดทรัพย์

ดังนั้น เราจึงออกแบบให้มีราคาซื้อคืน กรอบระยะเวลาซื้อคืน และค่าเช่าต่าง ๆ เพื่อให้มีความชัดเจนลดข้อกังวลของลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามาตรการไม่ได้เป็นยาวิเศษต้องมีการร่วมงานหลายภาคส่วน และเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ส่วนจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา”