ลุ้น! คลังชง ครม. ออกแพ็กเกจสินเชื่อดูแลเอสเอ็มอีเพิ่ม

กระทรวงการคลัง

คลัง เล็งชง ครม. 29 มิ.ย. นี้ ออกสินเชื่อดูแลเอสเอ็มอีเพิ่ม ทั้ง “ภาคท่องเที่ยว-การเกษตรกร” ด้าน “ออมสิน” ชี้ดูแลลูกค้าครอบคลุมพอร์ต 2.2 ล้านล้านบาท ทั้งสินเชื่อ-พักหนี้ครบวงจร

วันที่ 26 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงาน แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้ารัฐบาลจะออกมาตรการเพื่อมาดูแลเอสเอ็มอี โดยคาดว่ากระทรวงการคลังเองก็จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสินเชื่อเพื่อดูแลเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ได้แก่ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ จากธนาคารออมสิน โดยช่วยเหลือเอสเอ็มอีในภาคการท่องเที่ยว สำหรับใช้เป็นเงินทุนดำเนินกิจการหรือเสริมสภาพคล่อง วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท ให้กู้เป็นระยะเวลา 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีเท่ากับ 3.99% และปลอดชำระเงินต้นในปีแรก 

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดูแลให้เอสเอ็มอีเกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% ขอสินเชื่อได้สูงสุด 100,000 บาทต่อราย และโครงการสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานเกษตร วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 4% โดยเกษตรกรทั่วไปสามารถขอสินเชื่อได้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินได้เสนอขยายระยะเวลาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีในภาคท่องเที่ยว ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดว่า รมว.คลัง จะเสนอครม. อนุมัติในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ โดยสินเชื่อดังกล่าว เดิมโครงการจบช่วงสิ้นเดือน มี.ค. แบงก์จึงขยายให้ผู้ประกอบการเข้ามาขอสินเชื่อได้ถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งมีวงเงินเหลือกว่า 3,000 ล้านบาท เอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยว สามารถกู้ได้สูงสุด 500,000 บาท ดอกเบี้ย 3.99% นาน 5 ปี 

“ผู้มีสิทธิ์กู้เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ใช้บุคคลเป็นหลักประกันการกู้ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์และ บสย. ค้ำประกัน ซึ่งธนาคารผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาโดยดูรายได้ในอดีตของกิจการเป็นหลัก และถือว่าอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่ำมาก เมื่อเทียบกับ พ.ร.ก.สินเชื่อซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งออมสินได้รับการสนับสนุนในเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากรัฐบาล จึงเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้กับธนาคารด้วย”

นายวิทัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาออมสินช่วยเหลือดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาโดยตลอด ซึ่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าครอบคลุมทุกราย ซึ่งพอร์ตลูกค้าของธนาคารมีกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ได้แก่ การปล่อยสินเชื่อสู้ภัยโควิด เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อย 10,000 บาท/ราย ล่าสุด อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 7 แสนราย ขณะเดียวกันยังมีสินเชื่อมีที่มีเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่อง ดอกเบี้ยปีแรก 0.10% และในปีที่ 2 เพียง 0.99%โดยขณะนี้ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 6,000 ล้านบาท และออมสิน ยังดำเนินงานปล่อยสินเชื่อในส่วนของ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ของธปท.ด้วย

ทั้งนี้ ยังได้ออกมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งกลุ่มโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการให้สามารถประคับประคองธุรกิจจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลาย และกิจการกลับมามีรายได้อีกครั้ง พร้อมกันนี้ ยังพักชำระหนี้เงินต้น หรือพักชำระหนี้ดอกเบี้ย และพักต้นพักดอก เพื่อช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติมในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยให้ชำระหนี้เพียง 10%,25%, และ 75% ซึ่งธนาคารพิจารณาตามความสามารถของลูกค้า รวมทั้งยังมีมาตรการแก้หนี้ครู ลดดอกเบี้ยนานสูงสุด 2 ปี