ธปท. ย้ำพักหนี้ 2 เดือนเป็นมาตรการเฉพาะหน้า แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้ 

อสังหา-ธปท-หนี้เสีย

ธปท.เผยมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนเป็นมาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แนะลูกค้าเร่งปรับโครงสร้างหนี้ แก้ปัญหายั่งยืน ระบุธนาคารพร้อมเปิดทุกช่องทางติดต่อ โมบายแอปพลิเคชั่น-คอลเซ็นเตอร์-เจ้าหน้าที่เร่งช่วยเหลือลูกค้าเดือดร้อนทางตรงและอ้อม

วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่รุนแรง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย (TBA) และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ได้ออกแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสถานการณ์ระบาดตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยออกมาตรการเร่งด่วนพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งทางตรงจากการถูกปิดกิจการ และลูกหนี้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากรายได้ลดลงจากมาตรการล็อกดาวน์ โดยลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินได้ทันทีตั้งแต่ 19 ก.ค.นี้ โดยมีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนเพื่อการพิจารณารวดเร็วยิ่งขึ้น โดยภายหลังจากครบกำหนดพักชำระ 2 เดือน ธปท.ได้ขอให้สถาบันการเงินให้ภาระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกลี่ยจ่ายหรือนำไปจ่ายในช่วงท้ายของสัญญา

“การให้ความช่วยเหลือการพักหนี้ 2 เดือน เป็นมาตรการเร่งด่วนและเฉพาะหน้า และเป็นการเลื่อนการชำระหนี้ หากลูกค้ามีความสามารถก็ขอให้ชำระหนี้ เนื่องจากหมดระยะเวลาการพักลูกหนี้จะต้องกลับมาจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยต่อ ดังนั้น การแก้ปัญหายั่งยืนคือการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการฟื้นฟูรายได้ และเร่งฉีดวัคซีนจะเป็นหัวใจสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้” 

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภายในวันที่ 19 ก.ค.นี้ สถาบันการเงินทุกแห่งจะเปิดรับลงทะเบียนให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะเปิดช่องทางการติดต่อผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น คอลเซ็นเตอร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่สัมพันธ์ (RM) ในส่วนของลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อให้ความช่วยเหลือ 

อย่างไรก็ดี นอกจากมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนที่เป็นมาตรการเร่งด่วนแล้ว สถาบันการเงินยังมีมาตรการช่วยเหลือต่างๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 3 และมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งลูกค้าสามารถขอรับความช่วยเหลือในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการแก้ไขระยะยาวและยั่งยืน 

รวมถึงมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู พบว่า ล่าสุดตัวเลขอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 7.23 หมื่นล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 2.36 หมื่นราย คิดเป็นวงเงินเฉลี่ย 3.1 ล้านบาทต่อราย สะท้อนการกระจายตัวได้ดี โดยประมาณ 44.5% อยู่ในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี คาดว่าน่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1 แสนล้านบาท 

“เราไม่ได้ให้การพักชำระหนี้เป็นวงกว้าง เพราะลูกหนี้มีความแตกต่างกัน บางกลุ่มอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัวแล้ว เช่น ภาคการส่งออก จึงต้องการให้ลูกค้ายื่นความจำนงที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ซึ่งการพักชำระหนี้ 2 เดือนเป็นการแบ่งเบาภาระช่วงนี้ หากครบเรายังมีมาตรการอื่นที่ยังดำเนินการอยู่ลูกหนี้ยังสามารถใช้ได้”