ซิตี้แบงก์ กาง 3 ธีมลงทุนครึ่งปีหลัง คาดจีดีพีโลกปีนี้โต 5% 

ซิตี้แบงก์ เผยทิศทางเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี’64 คาดจีดีพีโลกโต 5% ชี้แต่ละภูมิภาคฟื้นตัวไม่เท่ากัน “สหรัฐ-จีน” ฟื้นนำ มองบวกลงทุนหุ้น คงน้ำหนักลงกลุ่ม ESG กาง 3 ธีมลงทุนครึ่งปีหลัง กระจายลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม “เทคโนโลยี-การดูแลสุขภาพ-เทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชัน-อสังหาริมทรัพย์” 

วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 นายซาเมียร์ เดชพานดิ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนระดับภูมิภาค ซิตี้แบงก์ เอเชียแปซิฟิค และตะวันออกกลาง เปิดเผยในงานสัมมนาออนไลน์  “Citigold Mid- Year Outlook 2021” ว่า แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์ว่าภาพรวมระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังปี 2564 แม้ว่ายังไม่สามารถกลับไปเท่าจุดก่อนที่มีการระบาดได้ แต่จะเป็นการฟื้นตัวหลากหลายรูปแบบในแต่ละภูมิภาค จากปัจจัยแรงหนุนจากภาคธุรกิจบางส่วนที่เริ่มกลับมาเปิดใหม่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มากขึ้นในหลายประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการคลังทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพ ภาครัฐที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคบริการในวงกว้างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยชีวิตผู้คนมากขึ้นอีกด้วย 

โดยคาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2564 จะขยายตัวที่ 5% และขยายตัวที่ 4.5% ในปี 2565 ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 6% จากสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานที่ลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น 

ในส่วนของประเทศจีน คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 8% จากการฟื้นตัวด้านการผลิต การบริโภค การเดินทางและการค้าภายในประเทศ ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกจะยังดำเนินนโยบายการเงินการคลังในระดับต่ำจนกว่าภาคธุรกิจจะกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงปกติ 

ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกที่นำโดยสหรัฐฯ และจีน เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงสิ้นปี 2562 ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 รวมถึงมูลค่าหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งระยะเวลาข้างหน้าต่อจากนี้จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งนักวิเคราะห์ซิตี้พบว่ามีโอกาสในการลงทุนระยะสั้นในอุตสาหกรรมหลายประเภทที่จะได้รับประโยชน์จากการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 อีกทั้งการลงทุนระยะยาวในอีกหลายอุตสาหกรรมที่จะเร่งตัวขึ้น  

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันตลาดได้ เช่น ความสัมพันธ์สหรัฐฯ–จีนที่อาจเลวร้ายลง เนื่องจากการแข่งขันทางการค้าที่สำคัญระหว่างสองประเทศที่อาจมีนัยยะและส่งผลกระทบ ตลอดจนการโจมตีทางไซเบอร์บนโครงสร้างพื้นฐานของโลกยังคงเป็นความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในโลกไซเบอร์ก็ตาม ดังนั้นนักลงทุนควรจับตาประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์พอร์ตลงทุนในระยะยาว

นายซาเมียร์ กล่าวต่อว่า ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ โดยแต่ละประเทศมีความรุนแรงไม่เท่ากัน ฉะนั้นจะส่งผลทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศไม่เท่ากันด้วย แต่มีความต้องการของผู้บริโภคที่อัดอั้นอยู่ ถ้าเมื่อไรที่สถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อดีขึ้น มีการเปิดเศรษฐกิจมากขึ้น ความต้องการเหล่านี้จะส่งผลในเชิงบวกได้ เช่น ในประเทศไทยที่ตอนนี้มีการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น แตกต่างจากประเทศที่เริ่มมีพัฒนาการของยอดผู้ติดเชื้อดีขึ้น

 

เพราะฉะนั้นภาพรวมการลงทุนยังคงเผชิญความท้าทายสูง แต่ซิตี้ยังมีมุมมองบวกต่อหุ้น ดังนั้นแนะนำกระจายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมหลากหลาย อาทิ เทคโนโลยี, การดูแลสุขภาพ, เทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชัน, อสังหาริมทรัพย์ โดยให้น้ำหนักในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย, ยุโรป, ลาตินอเมริกา, สหราชอาณาจักร ที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง เมื่อเทียบกับตลาดภูมิภาคอื่นๆ  

รวมถึงแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทโดยยังคงเน้นน้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนหลากหลายภูมิภาค พร้อมกระจายการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย, ตราสารหนี้ไฮยีลด์, พันธบัตรสหรัฐอเมริกา, เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเป็นสินทรัพย์หนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น ตลอดจนกองทุนรวมทั่วโลกที่เน้นการลงทุนแบบ ESG ที่มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมาก เนื่องด้วยผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาลเพื่อความยั่งยืนกันมากขึ้น  

โดยกลยุทธ์ลงทุนครึ่งปีหลังนี้ นำมาสู่ธีมการลงทุนใหญ่ๆ ทั้งหมด 3 ธีมการลงทุนด้วยกันคือ 

1.Mean reversion : กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่ยังฟื้นตัวขึ้นได้ไม่มากเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมองเป็นโอกาสในการลงทุนได้ เช่น โรมแรม, รีสอร์ท, สายการบิน, เรือสำราญ ในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเท่าฝั่งอเมริกา เช่น อังกฤษ, ยุโรป, ประเทศเกิดใหม่, ลาตินอเมริกา 

2.Financial repression : ประเทศใหญ่ๆ ของโลกยังคงกดดอกเบี้ยให้ต่ำอยู่ เพื่อลดปัญหาภาระหนี้สาธารณะ และให้ประเทศต่างๆ ฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด โดยธนาคารกลางทั่วโลกยังคงปล่อยให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นได้อีกเล็กน้อยแล้วค่อยปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะไม่ต่ำแบบนี้ตลอดไป มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลตอนนี้ต่ำมาก เพราฉะนั้นกลุ่มตราสารหนี้ที่น่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีกว่าคือ ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่เอเชีย, ตราสารหนี้ไฮยีลด์, พันธบัตรสหรัฐอเมริกา เพราะดอกเบี้ยจะลอยตัวตามผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 

3.Unstoppable trends : เช่น กลุ่มเฮลธ์แคร์ ที่น่าจะทำได้ดี เนื่องจากราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไม่มาก มูลค่าหุ้นยังถูก โดยเฉพาะถ้าเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยี แต่หุ้นเทคโนโลยีเองถ้าตลาดหุ้นมีการย่อตัวลง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐหรือจีนก็ตาม ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่ 

ต่อมาเป็นกลุ่มพลังงานสะอาด ซึ่งช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวดีขึ้นกว่ากลุ่มพลังงานดั้งเดิมมาก และมูลค่าหุ้นยังไม่แพงสามารถลงทุนได้ โดย ESG เป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนที่ซิตี้ให้ความสำคัญในปี 2564 โดยซิตี้คาดว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ในอนาคต ตลอดจนนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าและประสิทธิภาพของพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มเติบโตเป็นอย่างมากในไม่กี่ปีข้างหน้า 

และหุ้นปันผลยังคงมีแนวโน้มเติบโตสม่ำเสมอ ตั้งแต่ต้นปีวิ่งขึ้นมาได้ดี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลง หรือมีความผันผวนกลุ่มหุ้นปันผล ยังเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์ที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้

นายดอน จรรย์ศุภรินทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารซิตี้แบงก์ได้มีการพัฒนาการบริหารความมั่งคั่งผ่านบริการ “ซิตี้โกลด์” ด้วยบริการการลงทุนได้ทั่วโลกกว่า 200 กองทุน จากพันธมิตรที่หลากหลายกับ 5 บลจ.ในประเทศและ 13 บลจ.ต่างประเทศ โดยมีความหลากหลายของกองทุนทั้งประเภทของสินทรัพย์ และภูมิภาคของการลงทุน อาทิ กองทุน Aberdeen standard Global Dynamic Dividend Fund, Fidelity Global Demographics Fund, JP Morgan America Equity Fund, JP Morgan US Value fund, AB Sustainable Global Thematic, Schroder ISF Global Climate Chang, BGF Sustainable Energy Fund, KTAM Global Climate Change Equity Fund รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างครบวงจร 

โดยในไตรมาส 3 ซิตี้มีการเสนอขายกองทุนใหม่ให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การเติบโตด้านการลงทุน โดยสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มีการเติบโตเป็นที่น่าพึงพอใจ มีการเติบโตในกลุ่ม  ซิตี้โกลด์ และซิตี้ไพรออริตี้ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสนใจการลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าซิตี้โกลด์ โดยมีบริการผู้ดูแลบัญชีที่พร้อมให้บริการคำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ การลงทุนให้กับลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์รวมถึงการจัดประชุมทางวิดีโอคอล พร้อมทั้งให้การบริหารความมั่งคั่งสะดวกในทุกโอกาสผ่านซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชัน ให้ลูกค้าซิตี้โกลดสามารถทำการซื้อ-ขายกองทุนได้ด้วยตัวเอง การตรวจสอบความเคลื่อนไหวของพอร์ทการลงทุน การโอนเงินผ่านทางพร้อมเพย์ไปยังต่างธนาคาร หรือโอนเงินไปยังบัญชีต่างประเทศได้ง่าย ๆ รวมถึงสามารถเปิดบัญชีสกุลเงินต่างประเทศได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง 

สำหรับผู้สนใจสามารถรับข้อเสนอพิเศษรับซื้อและขายกองทุนผ่านซิตี้ โมบายล์ แอปพลิเคชัน รับเครดิตเงินคืนค่าธรรมเนียมการซื้อ 10% หรือสูงสุด 100,000 บาท เมื่อมียอดซื้อกองทุนรวมที่ร่วมรายการขั้นต่ำรวม 100,000 บาท รวมถึงรับเครดิตเงินคืนสูงสด 15,800 บาท เมื่อเปิดบัญชีใหม่และมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตซิตี้ และรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 2% ต่อปี ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย หรือ www.citibank.co.th