ประกันปรับตัวขายเบี้ยสุขภาพ รับมือกำลังซื้อครึ่งปีหลังหดตัว

ภาพ pixabay

ธุรกิจประกันตุนเบี้ยสุขภาพครึ่งปีแรกโตเฉียด 7% “นายกสมาคมประกันชีวิตไทย” ประเมินครึ่งปีหลังเบี้ยชะลอตามเศรษฐกิจ-กำลังซื้อที่ซบเซา “เมืองไทยประกันชีวิต-ซิกน่าประกันภัย” ปรับตัว-ลดไซซ์เบี้ย หวังเติบโตเข้าเป้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พบว่าช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 นี้ (ม.ค.-มิ.ย.) เบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบมีมูลค่า 56,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.93% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมาจากธุรกิจประกันชีวิต 45,194 ล้านบาท เติบโต 6.60% และมาจากธุรกิจประกันวินาศภัย 10,909 ล้านบาท เติบโต 8.33%

นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประกันสุขภาพยังเป็นสินค้าตัวชูโรงที่ช่วยให้พอร์ตโตขึ้น โดยได้รับความนิยมมาตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 มีอัตราการเติบโตในระดับ 9-12% ต่อปี สะท้อนว่าประชาชนเห็นประโยชน์จากการทำประกันสุขภาพ

“อย่างไรก็ดี การเติบโตช่วงครึ่งปีแรกยังไม่สะท้อนผลกระทบโควิดที่ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อประชาชนที่หดตัว แต่คาดว่าตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไปจะเห็นการเติบโตของเบี้ยที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ซบเซา โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่าง” นายสาระกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่บริษัทประกันกำลังพัฒนาคือการออกแบบราคาเบี้ยประกันสุขภาพให้ต่ำลง โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม Mass และเข้าถึงได้ผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันบางบริษัทได้พัฒนาฟีเจอร์ประกันสุขภาพ อาทิ การขยายอายุการรับประกันไปจนถึงอายุ 99 ปี (อายุ 80 ปีซื้อได้เป็นปีสุดท้าย)

นอกจากนี้ ยังเพิ่มบริการหลังการขายที่ครบวงจร ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่น ระบบเทเลเมดิซีน เป็นต้น โดยผูกกับโรงพยาบาล, สตาร์ตอัพเฮลท์เทค, อินชัวร์เทคมากขึ้นด้วย

“ปัจจุบันค่าเฉลี่ยเบี้ยประกันสุขภาพเริ่มต้นตั้งแต่กว่า 1 หมื่นบาทไปจนถึงหลายหมื่นบาท ซึ่งจะสะวิงตามฟีเจอร์ที่ลูกค้าเลือกและช่วงอายุ หรือวิ่งตามเส้นชีวิตของคน เช่น ช่วงเด็กแรกเกิดเบี้ยจะแพง แต่พออายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปเบี้ยจะถูกลง จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสูงวัยเบี้ยจะตีกลับไปสูงขึ้น” นายสาระกล่าว

นายสาระกล่าวด้วยว่า ในส่วนของ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต ช่วง 6 เดือนแรกเบี้ยประกันสุขภาพรวมโรคร้ายแรงทำได้ 5,000 ล้านบาท อยู่ในอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมประกันชีวิต อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยพอร์ตประกันสุขภาพในธุรกิจเริ่มมีการขยายใหญ่ขึ้นมาก ทำให้อัตราการเติบโตอาจจะไม่ถึง 2 หลักเหมือนในอดีต แต่สิ้นปีนี้คาดหวังเบี้ยจะโตได้ราว 9%

นายธีรวุฒิ สุธนะเสรีพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซิกน่าประกันภัย กล่าวว่า บริษัทมีเบี้ยประกันสุขภาพครึ่งปีที่ 1,403 ล้านบาท อยู่อันดับ 2 จากมาร์เก็ตแชร์ 19.20% เติบโตอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน ซึ่งกำลังซื้อที่อ่อนแอจากปัญหาโควิดเป็นปัจจัยหลักให้เบี้ยประกันไม่โตอย่างควรจะเป็น

“ผลกระทบมาจากกำลังซื้อทั้งระดับบนถึงล่าง เพียงแต่ระดับกลางถึงล่างอาจจะมีผลกระทบมากกว่า เพราะถูกกระทบจากเรื่องการจ้างงาน หลายธุรกิจหยุดดำเนินการ ปรับลดค่าจ้างหรือปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างได้รับผลกระทบเต็ม ๆ” นายธีรวุฒิกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ.ซิกน่าฯมีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ถูกผลกระทบจากโควิด ปรับผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และครอบคลุมทุกกลุ่มรับสังคมสูงวัย และปรับราคาเบี้ยให้สอดรับความสามารถในการชำระของลูกค้า ทั้งยังเพิ่มบริการหลังการขาย เช่น เทเลเฮลท์ เป็นต้น รวมไปถึงพัฒนาช่องทางการขายดิจิทัลหรืออีคอมเมิร์ซมาชดเชยช่องทาง face-to-face เพื่อรักษาเป้าหมายเบี้ยเติบโตในระดับเดียวกับปีที่แล้ว

“ด้วยฐานลูกค้ารายย่อยของบริษัทที่มีอยู่กว่า 7 แสนคน จำนวน 1 ล้านกรมธรรม์ ปัจจุบันบริษัทได้ขยายแผนงานโฟกัสกลุ่มลูกค้าองค์กรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 3-4 ปี ปัจจุบันมีประกันกลุ่มจากจำนวนพนักงานกว่า 2 หมื่นคน ซึ่งแม้ว่าหลายบริษัทมีรายได้ลดลง ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปบ้าง แต่บริษัทพยายามดีไซน์แผนประกันกับงบประมาณที่ลูกค้ามี เพื่อให้ต่ออายุประกัน” นายธีรวุฒิกล่าว