ทีดีอาร์ไอ สรุป 7 ประเด็นท้าทายจินตนาการโลกใหม่หลังโควิด

ทีดีอาร์ไอ สรุป 7 ประเด็นท้าทายจินตนาการโลกใหม่หลังโควิด ชี้ต้องพัฒนาระบบการศึกษา จัดสวัสดิการถ้วนหน้าผลักดันเศรษฐกิจไทยโตก้าวกระโดด

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้กล่าวสรุปสัมนาความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่หลังโควิด-19″ ซึ่งจัดขึ้นโดย TDRI ว่า ประเด็นสำคัญที่จะนำมาสรุปเพื่อรองรับงานสัมมนาวิชาการในครั้งนี้มีอยู่ประมาณ 7 ประเด็น ได้แก่ 1. ส่วนใหญ่คนไทยคิดว่าเมื่อโควิดหายไปประเทศไทยจะกลับมาปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เราตามโลกไม่ทัน กับการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวกระโดด อาจจะทำให้เราตามโลกไม่ทัน

2.ประเทศไทยยังคงมีความหวัง มีศักยภาพในการพัฒนาต่อไปได้อีกมากมาย แม้จะมีปัญหาภายในประเทศเข้ามากระทบ และการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ยังสามารถเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ปีละ 2-3% อย่างไรก็ดี หากต้องการก้าวกระโดดในการพัฒนาประเทศ จะต้องลดความเหลื่อมล้ำ

โดยประเทศไทยจะสามารถเติบโตทางเศรษฐกิจไปได้อีกปีละ 5% ไปอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งการทำตามจินตนาการใหม่นี้ง่ายที่สุดก็คือการลดความสูญเสีย เช่น เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละหลาย 10,000 คน การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อจำนวนมาก  รวมถึงการเสียสิทธิเสรีภาพจากการเกณฑ์ทหาร

3.การเปลี่ยนแปลงของโลก ภาครัฐของไทยยังไม่พร้อมยกระดับประเทศเข้าสู่การพัฒนาอย่างยังยืนด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง แม้ว่าภาพธุรกิจของไทยบางส่วนได้พยายามปรับตัวแล้ว แต่หากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐประเทศไทยก็อาจจะตกขบวนในต่างประเทศ ซึ่งการสร้างเศรษฐกิจใหม่นั้นเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อแทนรถยนต์สันดาปภายใน การพัฒนาพลังงานทางเลือก ซึ่งหากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐก็จะตกขบวนในการสร้างเศรษฐกิจใหม่ได้

4.ระบบการศึกษาเพื่อสร้างทักษะ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการพัฒนาประเทศแล้วก็การลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดความเหลื่อมล้ำด้วย เพราะประเทศไทยจะสามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ประเทศปานกลางได้ก็ต่อเมื่อสามารถขจัดความยากจนข้ามชั่วคน ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นโจทย์ใหญ่ แต่หากทำได้สำเร็จด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพ และไม่ให้เกิดเด็กตกหล่นจากการศึกษา และเร่งพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของตลาดแรงงานในระดับโลก  จะสามารถสร้างคนที่พร้อมกับการอยู่ในโลกใหม่ได้

มีข้อเสนอออกมาเป็นรูปธรรม คือการที่รัฐควรจะแจกคูปองสำหรับการฝึกทักษะให้กับประชาชนคนไทย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวคนในวัยทำงานคนที่ทำงานมาแล้วต้องการอัพสกิลรีสกิล ถ้าเกิดมีคูปองการศึกษาคูปองพัฒนาทักษะออกมาได้จะเปลี่ยนระบบการฝึกฝีมือแรงงานของคนไทยให้ไปสู่ระบบที่ตอบสนองต่อความต้องการได้มากยิ่งขึ้น

5.การให้สวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า โดยภาครัฐจะเป็นแนวทางเดียวในการป้องกันการตกหล่นของระบบสวัสดิการที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีคนตกหล่นมากมาย อย่างแรงงานนอกระบบ หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ฉะนั้น ประเทศไทยควรจะนำเอาสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้ามาใช้ เสริมด้วยสวัสดิการของนายจ้าง และสวัสดิการของแต่ละคนไปจัดหาเพิ่มเติมขึ้นมาเอง

6.หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าภาครัฐเป็นปัญหาใหญ่ต่อการปรับเปลี่ยนประเทศไทย เพราะภาครัฐของไทยไม่มีศักยภาพอีกต่อไป หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับไทยได้ยาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเทคโนโลยี และโลกที่จะมีวิกฤตต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤตสุขภาพ วิกฤติสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น จึงต้องการภาครัฐที่มีความสามารถในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งจะต้องเร่งแก้ภาครัฐราชการอำนาจนิยม และการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นอุปสรรคที่ปิดกั้นจินตนาการใหม่ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปของประเทศไทย

แนวทางแก้ไขก็คือการสร้างภาครัฐที่ทำงานเน้นผลลัพธ์ให้ตกกับประชาชนไม่ใช่ไปเน้นกระบวนการเป็นกฎระเบียบและต้องปรับตัวให้ตัวเองมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็คือต้องเรียนรู้ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมในการทำงานลักษณะเครือข่าย ถ้าเป็นไปได้ควรเลิกราชการภูมิภาคในระยะยาว แล้วค่อยเปลี่ยนผ่านไปโดยการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และสุดท้ายก็เลิกราชการส่วนภูมิภาค หากการปกครองส่วนท้องถิ่นฝเข้มแข็งจะทำให้เกิดการแข่งขันกันจากนักการเมืองในระดับท้องถิ่นในการยกระดับคุณภาพบริการของประชาชนแล้วก็จะเกิดการทำตามกันมาแข่งขันกัน สุดท้ายประชาชนจะได้บริการที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง

7.คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมือง เพราะคนรุ่นใหม่รู้ว่าการเมืองสำคัญต่ออนาคตของตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่จะถูกปิดกั้นจากความไม่เข้าใจของคนรุ่นก่อน ก็จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถทำได้ก็คือให้อิสระสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ เว้นแต่กรณีที่เห็นว่าเกิดอันตราย