ธปท.ชี้เดือน ต.ค. เงินเฟ้อ 2.38% ตามราคาผักโดนน้ำท่วม

ชญาวดี ชัยอนันต์
ชญาวดี ชัยอนันต์

ธปท. เผยเดือน ต.ค. เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า “การบริโภคเอกชน-ส่งออก-นักท่องเที่ยว” ปรับดีขึ้น ส่วนเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.38% ตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2564 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในหลายหมวดสินค้า สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ

ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และปัญหา supply distruption ที่ทยอยคลี่คลาย ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน

ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้นตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ด้านตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน ตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.38% ตามราคาผักที่ผลผลิตได้รับผลกระทบชั่วคราวจากสถานการณ์น้ำท่วม และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในเดือน ต.ค. เฉลี่ยอ่อนค่าลงจากเดือนก่อนหน้า ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ส่วนในเดือน พ.ย. 2564 ถึงวันที่ 23 พ.ย. ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการเปิดประเทศ และสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

ส่วนเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งเดือน ต.ค. 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 1.6% หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการฉีดวัคซีนที่มีความคืบหน้าต่อเนื่องทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทยอยฟื้นตัว ประกอบกับมาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ประเทศคู่ค้า โดยเดือน ต.ค. อยู่ที่ระดับ 1.3% ส่งผลให้การส่งออกปรับเพิ่มขึ้นในหลายหมวด โดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่มูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี การส่งออกบางหมวดปรับลดลงหลังจากที่เร่งขึ้นในเดือนก่อน อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวด ตาม 1) อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัว 2) สถานการณ์การแพร่ระบาดในโรงงานในไทยที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และ 3) ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่คลี่คลายลงบ้าง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการนำเข้าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและด้านราคา รวมทั้งการนำเข้าสินค้าทุนจากการนำเข้าโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ขณะที่การนำเข้าหมวดอื่น ๆ โดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายสัญชาติ ซึ่งมาจากการผ่อนปรนมาตรการ ทั้งการลดจำนวนกักตัวนักท่องเที่ยวลง และการระบาดในประเทศก็ดีขึ้น ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงสิ้นเดือน ต.ค. นักเที่ยวอยู่ที่ 1.6 แสนคน แต่โดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากหลายประเทศยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอยู่

ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยเป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อนที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2564 ประกาศใช้ล่าช้า และการเบิกจ่ายในปีนี้ของหน่วยงานภาครัฐที่ทำได้ค่อนข้างดี

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน -1.2% ตามหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะยอดจดทะเบียนรถยนต์ที่ลดลงหลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อน สำหรับการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลงเล็กน้อยตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเรื่องการลงทุนก็ปรับดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 แล้ว

ทั้งนี้ ตลาดแรงงานยังเปราะบาง แม้ปรับดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิว่างงานใหม่ในระบบประกันสังคมที่ปรับลดลง และความเชื่อมั่นของผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ปรับดีขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าเดือนก่อน ตามดุลรายได้ บริการ และเงินโอนที่ขาดดุลน้อยลง