เปิดเงื่อนไขไหนที่ล่าสัตว์ป่าแล้วไม่ต้องรับโทษ

ภาพจากเพจคนอนุรักษ์

เมื่อสัตว์ป่าเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยตัวเองไม่ได้ จึงต้องบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสัตว์เหล่านั้น

ปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เป็นการประกันความปลอดภัยบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

ซึ่งวันนี้ไม่มีข่าวไหนสะเทือนเลื่อนลั่นสังคมไทยไปมากกว่าข่าวของบิ๊กเนม บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ “เปรมชัย กรรณสูต” ที่ถูกควบคุมตัวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร พร้อมซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ประกอบด้วย ซากเสือดำที่ถูกชำแหละ และไก่ฟ้าหลังเทา อีกแล้ว

สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหา พ.ร.บ.ดังกล่าว มีทั้งหมด 8 หมวด 70 มาตรา โดยจะนำมาเสนอเฉพาะบางหมวดบางมาตราเท่านั้น

หมวดที่ 1 บททั่วไป

มาตรา 7 ผู้ใดล่าสัตว์ป่าโดยฝ่าฝืนต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ด้วยความจำเป็นและภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

1.เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากอันตราย หรือ เพื่อสงวน หรือ รักษาไว้ซึ่งทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น

2.การล่านั้นได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ และ

3.ในกรณีที่สัตว์ที่ถูกล่านั้นเป็นสัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครอง มิได้นำสัตว์ป่าที่ถูกล่า หรือ ซากของสัตว์ป่าที่ถูกล่านั้นเคลื่อนที่ และ ได้แจ้งเหตุที่ได้ล่าสัตว์ป่าไปแล้วนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบโดยไม่ชักช้า

ให้สัตว์ป่า หรือ ซากของสัตว์ป่าที่ถูกล่าตามวรรคหนึ่งตกเป็นของแผ่นดิน และ ให้กรมป่าไม้ หรือ กรมประมง แล้วแต่กรณี นำไปดำเนินการตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

หมวด 3 การล่า การเพาะพันธุ์ การครอบครอง และ การค้าซึ่งสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า และ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่า

มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือ พยายามล่าสัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่ เป็นการกระทำโดยทางราชการที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 26

มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือ ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่กำหนดตามมาตรา 17 ที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือ ซากของสัตว์ป่าดังกล่าว และ โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวง และ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

หมวด 6 บริเวณและสถานที่ห้ามล่าสัตว์ป่า

มาตรา 36 ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิใด้ผู้ใดล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวน หรือ สัตว์ป่าคุ้มหรือ หรือ มิใช่ หรือ เก็บ หรือ ทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า เว้นแต่จะกระทำเพื่อการศึกษา หรือ วิจัยทางวิชาการ และ ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

หมวด 8 บทกำหนดโทษ

มาตร 47 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 มาตรา 19 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 23 วรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 53 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนคดีจะเป็นเช่นไรต่อนั้น ขั้นตอนอยู่ที่เจ้าพนักงานสอบสวน ซึ่งเบื้องต้นการกล่าวโทษคณะของเปรมชัย มีด้วยกันทั้งหมด 6 ข้อหา ได้แก่

1. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

2. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 16 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

3. ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

4. ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามข้อ 1 (1) ของกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2538) ออกตามความตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535

5. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507

6. สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษตามฐานความผิดต่อไป