น้ำท่วม 3 จังหวัด 22 อำเภอเสียหาย ธรรมนัส ลงพื้นที่ช่วยเหลือด่วน

สถานการณ์น้ำท่วม 2566 ธรรมนัส พรหมเผ่า

ธรรมนัส รมต.เกษตร ลงพื้นที่ประมวลความเสียหายจากน้้ำท่วม 3 จังหวัด ‘สุโขทัย แพร่ ลำปาง’ 22 อำเภอ เร่งช่วยเหลือไม่เว้นวันหยุด ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านปศุสัตว์ 14 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมซ้ำ เกษตรกร 4,708 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 2 แสนตัว

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ช่วงวันที่ 30- กันยายน 2 ตุลาคม 2566 พร้อมรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน และแจกถุงยังชีพแก่พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย 3 จังหวัด เริ่มจาก เทศบาลตำบลแม่ปุ อ.แม่พริก บ้านต้นธง อ.เมือง จ.ลำปาง ต่อด้วยบริเวณ อ่างเก็บน้ำแม่แย้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.แพร่ และ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

สำหรับจังหวัดลำปางเกิดฝนตกหนักในช่วง 27 – 30 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตร จำนวน 8 อำเภอ 35 ตำบล 144 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีการประการเขตภัยพิบัติ จำนวน 5 อำเภอ

สำหรับ จ.ลำปาง มีพื้นที่ 7,833,726 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1,036,512 ไร่ หรือร้อยละ 13.23 พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด ส้มเกลี้ยง และยางพารา

“สิ่งสำคัญที่ต้องกลับมาคิดคือการแปรรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ ได้มอบหมายกรมชลประทานจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือราษฎรแต่ละพื้นที่ และบูรณาร่วมกับส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ADVERTISMENT

พร้อมสั่งให้จัดทำแผนการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ และในภาพรวมของจังหวัด ตรงไหนที่สามารถเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำได้ให้ดำเนินการทันที” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมชลประทานมีแผนดำเนินการในการสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง และแก้มลิ้ง 2 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำในพื้นที่ต้นน้ำและลุ่มน้ำสาขา อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือทางด้านการเกษตรและบรรเทาอุทกภัย

ADVERTISMENT

แพร่ ท่วม 5 อำเภอ-สุโขทัย ชาวบ้านกระทบกว่าพันครัวเรือน

ขณะที่ การลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำแม่แย้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้รับรายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดแพร่ เกิดจากฝนตกหนักหลายที่ กับมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ทำให้เกิดน้ำไหลป่าไหลหลากเป็นปริมาณมากทำให้น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.สูงเม่น อ.เด่นชัย อ.ลอง และ อ.วังชิ้น

กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน จึงได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน

” ได้มอบหมายกรมชลประทานดำเนินการตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ อาทิ การป้องกันน้ำกัดเซาะตลิ่ง การอำนวยความสะดวกในการผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค การขุดลอกอ่างเก็บอ่างเก็บน้ำแม่แย้ฯ รวมถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำแม่แย้ตอนบน โดยจะเร่งรัดให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่”ร้อยเอกธรรมนัสกล่าว

โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชน และแจกถุงยังชีพแก่พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย เนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก ณ ประตูระบายน้ำ หาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย

ซึ่งพบว่า จังหวัดสุโขทัยได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. – 20 ก.ย. 66 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 66 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9 อำเภอ 42 ตำบล 165 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จำนวน 1,365 ครัวเรือน 2,814 คน พื้นที่ทางการเกษตร 62,483.50 ไร่

น้ำท่วม 141 หมู่บ้าน สัตว์ได้รับผลกระทบเฉียด 2 แสนตัว

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/อำเภอ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ เข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัย โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์รายงานการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

โดยพื้นที่ได้รับผลกระทบ 141 หมู่บ้าน 56 ตำบล 29 อำเภอใน 14 จังหวัดได้แก่ จันทบุรี ชัยภูมิ ยโสธร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู เชียงราย แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก และอุตรดิตถ์

มีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 4,708 ราย และสัตว์ได้รับผลกระทบ 199,818 ตัว เป็นโค 10,400 ตัว กระบือ 3,683 ตัว สุกร 4,963 ตัว แพะ/แกะ 323 ตัว และ สัตว์ปีก 180,449 ตัว ส่วนแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ได้รับผลกระทบ 659 ไร่

สำหรับการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ดำเนินการไปแล้ว มีดังนี้

  1. พืชอาหารสัตว์ 159,060 กิโลกรัม
  2. อพยพสัตว์ 15,012 ตัว
  3. สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ (แร่ธาตุ/ยาปฏิชีวนะ/วิตามิน) 1,066 ชุด
  4. รักษาสัตว์ 311 ตัว
  5. ถุงยังชีพ 396 ถุง

นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวเพิ่มเติมว่า สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกรมปศุสัตว์เตรียมพร้อมเข้าช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัยอย่างทันท่วงที เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 1-10 ตุลาคม 2566 จะมีฝนตกลงมาเพิ่ม เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวนในช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีน้ำมากอยู่แล้ว ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อาจเกิดน้ำท่วมซ้ำได้

สำหรับการรับมือภัยธรรมชาติของกรมปศุสัตว์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เป็นไปตามนโยบายของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดมาตรการต่างๆ อย่างชัดเจน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย การช่วยเหลือขณะเกิดภัย และการฟื้นฟูหลังจากภัยพิบัติคลี่คลายแล้ว เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกรให้ได้มากที่สุด