กรมอุตุฯเฉลย ทำไมเดือนมีนาคม-เมษายน อากาศจึงร้อนและร้อนจัด

อากาศ ฤดูร้อน
Photo by Dakota Roos on Unsplash

กรมอุตุฯเผยเหตุผลทำไมเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุก ๆ ปี อากาศจึงร้อนและร้อนจัด ระบุเหตุลำแสงของดวงอาทิตย์จะส่องตรงตั้งฉากบริเวณเขตร้อน (Tropic) ทำให้ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์แบบเต็ม ๆ ชี้ปีนี้จะร้อนกว่าปี 2566 เพราะฝนน้อยตั้งแต่ปลายปี และปรากฏการณ์เอลนีโญยังมีอิทธิพลอยู่

วันที่ 6 มีนาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา โพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊กของกรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายเหตุผลว่า “ทำไมเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุก ๆ ปี อากาศจึงร้อนและร้อนจัด”

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจาก

1.ในช่วงฤดูร้อน ลำแสงของดวงอาทิตย์จะส่องตรงตั้งฉากบริเวณเขตร้อน (Tropic) ทำให้ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์แบบเต็ม ๆ

2.ช่วงนี้มักจะปรากฏหย่อมความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน และบางช่วงอาจจะมีคลื่นความร้อน (Heat Wave) แผ่ปกคลุม ทำให้อากาศร้อนถึงร้อนจัด ถ้าโชคดีปีไหนมีฝนเกิดขึ้นก็พอจะช่วยคลายร้อนได้ แต่ปีนี้อาจต่างออกไป ฝนน้อยตั้งแต่ปลายปี และปรากฏการณ์เอลนีโญยังมีอิทธิพลอยู่ จึงทำให้ปีนี้อากาศอาจจะร้อนกว่าปีที่แล้ว แต่ทำลายสถิติหรือไม่ต้องติดตาม ฤดูร้อนแบบนี้ต้องระวังโรคที่มากับความร้อน และระวังพายุฤดูร้อนด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือน เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 1 (52/2567) มีผลกระทบบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 8-10 มีนาคม 2567

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ในช่วงวันที่ 8-10 มีนาคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดหลายพื้นที่

ADVERTISMENT

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบางพื้นที่ โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงไว้ด้วย