กรมอุตุฯเตือน 8-10 มี.ค.นี้ ระวังอันตรายจาก “พายุฤดูร้อน-ลมกระโชกแรง”

ฝนตก
Photo : Pixabay

กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า เตือนช่วง 8-10 มีนาคมนี้ อากาศร้อนถึงร้อนจัด เสี่ยงเกิด “พายุฤดูร้อน” หลายพื้นที่ โดยเฉพาะตอนบนของประเทศ เหตุมีมวลอากาศเย็นจากจีนปะทะกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ ระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ เลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง

วันที่ 5 มีนาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้าว่า ในช่วงวันที่ 5-7 มี.ค. 67 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด กับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 8-11 มี.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดช่วง

โดยในช่วงวันที่ 8-10 มี.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจจะเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรและอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย

ส่วนสถานการณ์แผ่นดินไหว (ในช่วงวันที่ 4-5 มี.ค. 67) : ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 2.3, 3.4, 2.4 มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา และขนาด 3.7 มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย
ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

พยากรณ์อากาศกทม. 7วันข้างหน้า 5-11 มีนาคม 2567
พยากรณ์อากาศ กทม. 7 วันข้างหน้า 5-11 มีนาคม 2567