กรมอุตุฯ เตือน 5-6 มี.ค. 2567 ดัชนีความร้อนเมืองไทย ทะลุ 50 องศา

ฤดูร้อน อากาศร้อน
Photo by Bruno Scramgnon on Pexels

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายค่าดัชนีความร้อน 5-6 มีนาคมนี้ ค่าดัชนีความร้อนภาคตะวันออก อยู่ในระดับอันตราย ทะลุ 50 องศาเซลเซียส

วันที่ 4 มีนาคม 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายค่าดัชนีความร้อน หรือ Heat Index (อุณหภูมิที่คนรู้สึกได้ถึงอากาศร้อนในขณะนั้น) ในช่วงวันที่ 5-6 มีนาคม 2567 พบว่าอุณหภูมิสูงสุด ช่วงดังกล่าว สูงถึง 51.4 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดชลบุรี

สำหรับจังหวัดที่มีดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาค ช่วงวันที่ 5-6 มีนาคม 2567 มีดังนี้

วันที่ 5 มีนาคม 2567

  • ภาคเหนือ : จ.ตาก 39.9 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา 38.7 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคกลาง : กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคตะวันออก : จ.ตราด 50.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคใต้ : จ.กระบี่ 42.5 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

วันที่ 6 มีนาคม 2567

  • ภาคเหนือ : จ.ตาก 39.6 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.บุรีรัมย์ 39.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับเตือนภัย
  • ภาคกลาง : กรุงเทพฯ 48.1 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี 51.4 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย
  • ภาคใต้ : จ.ภูเก็ต 48.3 องศาเซลเซียส อยู่ในระดับอันตราย

“ดัชนีความร้อน” คืออะไร ?

กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายเกี่ยวกับดัชนีความร้อนไว้ว่า เป็นความร้อนที่ร่างกายมนุษย์ปกติรู้สึกได้ ณ ขณะนั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ ที่ตรวจวัดได้ ณ เวลานั้น ๆ ซึ่งค่าดัชนีความร้อน มักจะมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้เสมอ เช่น ที่เวลา 12.00 น. วัดอุณหภูมิได้ 33.0 องศาเซลเซียส วัดความชื้นสัมพัทธ์ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ จะมีด้ชนีความร้อน 49 องศาเซลเซียส เป็นต้น

ค่าดัชนีความร้อนระดับเฝ้าระวังเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน สามารถแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับเฝ้าระวัง-ดัชนีความร้อน 27.0-32.9 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อสุขภาพ : เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายเกิดอาการเบื้องต้น เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ผื่นจากความร้อน บวมจากความร้อน ปวดเมื่อยตามร่างกาย นำไปสู่การเกิดตะคริวจากความร้อนได้

ระดับเตือนภัย-ดัชนีความร้อน 33.0-41.9 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อสุขภาพ : เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเพลียแดด (Heat exhaustion) และเป็นตะคริวจากความร้อนได้ และอาจส่งผลให้เกิดโรคลมร้อน หรือฮีตสโตรก (Heat stroke)

ระดับอันตราย-ดัชนีความร้อน 42.0-51.9 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อสุขภาพ : เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน อาจทำให้เป็นตะคริวจากความร้อน และเกิดโรคเพลียแดดจากความร้อน (Heat exhaustion) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน หรือฮีตสโตรก (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนอย่างต่อเนื่อง

ระดับ อันตรายมาก-ดัชนีความร้อน มากกว่าหรือเท่ากับ 52.0 องศาเซลเซียส

ผลกระทบต่อสุขภาพ : เมื่อสัมผัสความร้อน และทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง มีความเสี่ยงสูงมากที่เกิดโรคลมร้อน หรือฮีตสโตรก (Heat stroke)