9 องคมนตรี-มหาดไทย น้อมนำพระราชกระแสรับสั่ง ร. 10 แก้ภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.62 คณะองคมนตรี 9 คน ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ, พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา, นายจรัลธาดา กรรณสูต, พลเอกกัมปนาท รุดดิษฐ์, พลเรือเอกพงษ์เทพ หนูเทพ, นายอำพน กิตติอำพน, พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท และพลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุม

ทั้งนี้ คณะองคมนตรีขอให้ทุกภาคส่วนน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับแต่ละสภาพพื้นที่

“มุ่งเน้นการวางแผนเผชิญเหตุและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรน้ำอุปโภคบริโภคถึงระดับครัวเรือน การเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ การดูแลแหล่งกักเก็บน้ำในระดับหมู่บ้าน ทั้งการขุดลอกคูคลองและสระน้ำ การกำจัดวัชพืชและโคลนตมในคลองส่งน้ำ การจัดหาภาชนะกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ประจำครัวเรือน อีกทั้งประสานจัดทำฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเอื้ออำนวย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด”

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้บูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ภายใต้กฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยผ่านกลไกการปฏิบัติของหน่วยงานทุกภาคส่วน แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1.การคาดหมายและพยากรณ์สภาพอากาศ เพื่อติดตามสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้ง 2.การบริหารจัดการน้ำ เพื่อวางแผนการใช้น้ำในด้านต่างๆ 3.การปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก และ 4. การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ

สำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระยะเร่งด่วน ได้เน้นย้ำให้จัดหาน้ำจากทุกแหล่งรองรับการใช้น้ำ ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยผันน้ำดิบเข้าสู่ระบบการผลิตน้ำประปา ขุดลอกแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ขุดเจาะและเป่าล้างบ่อบาดาล ควบคู่กับการจัดสรรน้ำสนับสนุนทุกพื้นที่เสี่ยงภัย มุ่งดูแลด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก โดยจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง กรณีเกิดความเสียหายด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ในพื้นที่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ให้จำแนกความเสียหายตามประเภทและช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังโดยด่วน

นอกจากนั้นได้กำชับให้สร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้น้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งน้ำ รวมถึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำไว้ล่วงหน้า เน้นการกักเก็บน้ำจากปริมาณฝนในช่วง 1 – 2 เดือนข้างหน้า เพื่อสำรองน้ำให้เพียงพอต่อการใช้น้ำในปี2563

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะองคมนตรีได้ร่วมประชุมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างรอบคอบ โดยในที่ประชุม กรมชลประทาน ได้รายงานการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง ในช่วงฤดูฝน 2562 โดยได้คาดการณ์จากข้อมูลของปี 2558 ซึ่งมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับปัจจุบันว่าในวันที่ 1 พ.ย. 2562 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ 19,342 ล้าน ลบ.ม. หรือ 41% ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าปี 2561 จำนวน 13,052 ล้าน ลบ.ม.

และจากการณ์คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณ 4,149 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาณน้ำใช้การณ์ 1,923.22 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ มีกรอบมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ปี 2562/63 ได้แก่ การจ้างแรงงานชลประทาน , การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น การปลูกข้าวโดยวิธีเปียกสลับแห้ง สร้างการรับรู้ผ่านสื่อ แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ แนวทางการบริหารจัดการน้ำ การช่วยเหลือ การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย และ การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน เช่น ร่วมกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวง และสนับสนุนรถบรรทุกน้ำ