สธ.แถลงข่าวดีผู้ป่วย “โควิด19” กลับบ้านอีก 1 ราย ย้ำใช้มาตรการเข้มเรือท่องเที่ยวทุกลำ

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา19 (Covid-19)

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) 21 ราย กลับบ้านแล้ว 12 ราย รวมสะสม 33 ราย โดยรายที่กลับบ้านเพิ่มนั้นเป็นผู้ป่วยชาวจีน อายุ 21 ปี ที่เดิมรักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยที่แพทย์ใกล้จะอนุญาตให้กลับบ้านได้เพิ่ม คือ นักท่องเที่ยวชายชาวจีนอายุ 61 ปี ส่วนผู้ป่วยยืนยันรายอื่นๆ อาการดีขึ้น และในกรณีผู้ป่วย 2 ราย ที่มีอาการหนักมาตั้งแต่แรกรับ และรักษาที่สถาบันบำราศฯ ขณะนี้แพทย์ยังคงดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับคนไทยกลับบ้านที่ฐานทัพเรือสัตหีบ วันนี้เป็นวันที่ 9 ของการเฝ้าระวังโรค ผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย ที่ รพ.ชลบุรี อาการปกติ ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยังพบเชื้อ และอยู่ในห้องแยก ยังคงเฝ้าระวังติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนไทยที่อาคารรับรองสัตหีบ 137 คน ทุกคนสบายดี ไม่มีไข้ รอผลจากห้องแล็บถ้าไม่พบเชื้อไวรัสจะอนุญาตให้กลับบ้าน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับเรือเวสเตอร์ดัม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการให้เตรียมวางแผนรองรับ เนื่องจากตามข้อมูลระบุว่า ขณะนี้เรือได้มีแผนไปจอดเทียบท่าที่ท่าเรือสีหนุ วิลล์ ประเทศกัมพูชา ประเทศไทยจึงต้องเตรียมการด้านบุคลากรตามช่องทางต่างๆ ที่เข้า-ออก ทั้งทางบก เรือ และอากาศ เพื่อเตรียมในกรณีที่ผู้โดยสารจากเรือลำดังกล่าวทำการเปลี่ยนเส้นทางเดินทางที่ประเทศไทย พร้อมทั้งประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนดูแลคนไทยบนเรือลำดังกล่าว ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีคนไทยทั้งหมด 21 คน เป็นคนลูกเรือ 19 คน และผู้โดยสาร 2 คน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีเรือท่องเที่ยวที่แวะพักที่ จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคจาก สธ.ได้ขึ้นไปประเมินสุขอนามัยบนเรือ ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของผู้โดยสารและลูกเรือ ร่วมกับแพทย์ประจำเรือ มาตรการเช่นนี้ใช้วิธีเดียวกับการคัดกรองผู้โดยสารทั้งทางบก เรือ และอากาศ ผลการตรวจไม่มีผู้มีอาการเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรค (PUI) และก่อนลงมาจากเรือแพทย์ประจำเรือจะวัดไข้ซ้ำอีกครั้ง และเมื่อลงจากเรือแล้วจะมีทีมแพทย์ สธ.และ กองทัพเรือวัดไข้ซ้ำอีกครั้ง เป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ป่วย และเรือลำนี้มาแวะพักตามเส้นทางเดินเรือปกติ โดยมีการแจ้งการเข้าออกประเทศอย่างถูกต้อง

“เรือท่องเที่ยวที่ภูเก็ต มีความต่างกับเรือเวสเตอร์ดัม เนื่องจากเรือท่องเที่ยวมีเส้นทางแวะพักที่ประเทศไทยประมาณ 10 ชั่วโมง และมีกระบวนการถูกต้องทุกประการ และไม่ได้การจอด เป็นเพียงการแวะพักและเดินทางต่อ ในกรณีเช่นนี้คือ เรือจะต้องส่งข้อมูลล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายขึ้นไปประสานกับแพทย์บนเรือเพื่อตรวจสุขอนามัย วัดไข้ผู้โดยสารทั้งหมด หากใครจะลงก็จะตรวจซ้ำ และเมื่อลงมาแตะแผ่นดินไทยจะวัดไข้ซ้ำอีกที ยืนยันว่าเราดำเนินการมาตรการเช่นนี้ในทุกเรือที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังจุดท่องเที่ยวทุกจุด” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะใช้มาตรการอย่างไรในการดูแลผู้โดยสารจากเรือเวสเตอร์ดัมที่จะจอดเทียบท่าที่สีหนุวิลล์ แล้วมาประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อไปประเทศอื่น นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า คนกลุ่มดังกล่าวจะเหมือนผู้เดินทาง เพียงแต่ว่ามีความเสี่ยงที่เพิ่มเติม เนื่องจากเรือลำดังกล่าวได้ถูกปฏิเสธมาจากหลายท่า และข้อมูลส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ โดยในการจอดเทียบท่าที่สีหนุวิลล์ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศ ผู้โดยสารและลูกเรือ ประเทศไทยก็จะได้รับทราบถึงการเดินทางของผู้โดยสารและจำนวนลูกเรือที่มีถึง 2,000 คน ดังนั้นจะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทาง ประเทศไทยจึงต้องเตรียมการในกรณีเดินทางมาเพื่อเปลี่ยนเครื่อง โดยจะใช้มาตรการเดียวกันกับกรณีที่ผู้เดินทางมีความเสี่ยงที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งหากพบข้อสงสัยก็สามารถให้เจ้าหน้าที่การควบคุมโรคเข้าไปดำเนินการด่านบก เนื่องจากจุดดังกล่าวห่างไกลจากด่านพรมแดน แต่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของทาง ตม. และยกระดับตามความเสี่ยง แต่เน้นย้ำว่าผู้เดินทางยังไม่ได้เป็นผู้ป่วยยืนยัน เพื่อไม่ให้เกิดการตีตรา ด่านน้ำ ความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำ แต่มีการเตรียมการณ์รองรับไว้ด้วย

เมื่อถามว่าหากมีสายการบินจากประเทศกัมพูชาจะต้องแยกประตูหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ประเทศกัมพูชาก็จะต้องมีกระบวนการดำเนินการพอสมควร แต่อย่างเช่นกรณีผู้เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ที่มีการคัดกรองที่ประตูทางเข้าโดยตรง และเมืองอื่นๆ ในประเทศจีนก็จะดำเนินงานในภาพรวม แต่เมื่อประเทศจีนมีการรายงานผู้ป่วยในหลายเมือง ประเทศไทยก็มีการปรับวิธีการไปด้วย

เมื่อถามถึงคนไทยที่อยู่ในเรือเวสเตอร์ดัม จะต้องดูแลอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จะต้องทราบการเดินทางของบุคคล แต่เนื่องจากเป็นคนไทยจึงคาดว่าจะต้องกลับมาประเทศไทยก่อน และจะต้องแจ้งข้อมูลมา หากมีการเดินทางกลับมาก็จะมีมาตรการดูแลทั้ง 21 คน อย่างเหมาะสม

เมื่อถามอีกว่ามีการเดินเรือมายังประเทศไทยหลายเที่ยว จะส่งผลอย่างไรกับงบประมาณที่จะต้องใช้ดูแลควบคุมโรคหรือไม่ นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การท่องเที่ยวเป็นหัวใจของประเทศไทย รายได้และชื่อเสียงส่วนหนึ่ง มาจากการท่องเที่ยว ดังนั้นเรื่องงบประมาณเป็นเรื่องรอง ที่ทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการร่วมกัน และที่สำคัญเป็นเรื่องมิติความปลอดภัยและความมั่นใจของประชาชนคนไทยมากกว่ามิติทางเศรษฐกิจ ทุกหน่วยงานพร้อมที่จะดำเนินงานอย่างเต็มที่

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์