กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับ “โควิด-19” เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับ 14

Photo by VIVEK PRAKASH/Afp/AFP via Getty Images

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการ เข้าร่วม

นายอนุทิน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือเพื่อประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เนื่องจากในทางปฏิบัติ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการควบคุมโรคแบบบวกหนึ่งมาโดยตลอด เช่น เช่น การระบาดระดับที่ 1 ให้ใช้มาตรการขั้นที่ 2 การระบาดระดับ 2 ใช้มาตรการขั้นที่ 3 เพื่อให้การดำเนินงานอยู่หน้าสถานการณ์เสมอ ไม่รอไล่เก็บทีหลัง และประโยชน์ที่สำคัญคือ หากมีการพบว่ายาใดที่มีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศสามารถรักษาผู้ป่วยได้ แต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ภายใต้ประกาศฉบับนี้จะเกิดการยกเว้น เนื่องจากเป็นกรณีฉุกเฉินในสถานการณ์การระบาด

“ไม่ใช่ประกาศเพราะว่าเราเอาไม่อยู่ถึงประกาศ แต่เป็นการประกาศเพื่อให้ความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรคได้มากขึ้น ตอนนี้ต้องยอมรับว่าการระบาดไม่ได้ระบาดประจำถิ่นแต่ไปทั่วโลกแล้ว ทุกวันนี้ไม่ได้สู้กับโรคไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเดียว แต่ต้องเหนื่อยกับข้อมูลต่าง ๆ ที่จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หรือเท็จไปถึงให้ร้าย ทำให้คณะทำงานบั่นทอนกำลังใจ หรือทำให้การทำงานไม่มีความมั่นใจ เพราะเกรงว่าจะติดกฎหมาย สธ.ได้หารือภายในก่อนเพื่อหาแนวทางปฏิบัติการอย่างสบายใจ คือการเอากฎหมายรองรับ เช่น หากจะต้องสั่งให้คนกักโรค 14 วัน หากไม่มีการประกาศก็ได้แค่ขอความร่วมมือ เพราะกลัวว่าหากมีการปฏิเสธ แล้วจะมีการฟ้องร้องว่าถูกจำกัดเสรีภาพ ก็จะมีผลกระทบกับเจ้าหน้าที่ อย่างที่มีเคสตัวอย่างที่เกาหลี ที่มีผู้เป็น super spreader เราให้เกิดในเมืองไทยไม่ได้เด็ดขาด” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากองค์กรต่าง ๆ องค์กรอิสระ ผู้แทนทรงวุฒิจากกระทรวงสาธารณสุข ลงความเห็นว่าการประกาศให้โรคไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายจะมีประโยชน์กับการควบคุมโรคในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การที่ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายไม่ได้หมายความว่าเข้าสู่ระยะ 3 แต่เป็นการประกาศเพื่อไม่ให้ระดับ 3 เกิดขึ้น หรือถ้าหากจะเกิดขึ้นก็จะยืดเวลาออกไป รวมถึงเพื่อใช้มาตรการที่เข้มข้นในการควบคุมโรค โดยเป็นการใช้มาตรขั้นที่ 3 มารับมือการระบาดระดับ2

“การประชุมไม่มีเสียงแตก เป็นการเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถดำเนินการด้วยประสิทธิภาพที่มาก ให้เกิดความปลอดภัยให้คนไทยและชาวต่างชาติ และได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร เจ้าพนักงานต่างๆ ใช้อำนาจเพื่อดำเนินการทุกอย่างได้คล่องตัวในการควบคุมโรค ป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย หารือกันแล้วไม่มีใครเห็นผลลบ จึงประกาศ เราได้ทำอย่างนำหน้าสถานการณ์ไป ยืนยันว่าไม่ใช่การระบาดในระยะที่3 แน่นอน” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการประกาศครั้งนี้จะมีข้อห้ามในการชุมนุมหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า มีข้อกำหนดอยู่แล้วว่าห้ามเข้าไปในสถานที่ชุมนุม เช่น ช่วงนี้ สิ่งที่ กระทรวงสาธารณสุขพยายามแนะนำคือ หากไม่จำเป็นไม่ควรไปในพื้นที่ประเทศเสี่ยง คนในประเทศเองก็จะต้องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย หากทำได้ก็จะส่งผลดีมากขึ้น ซึ่งหากมีการชุมนุมขึ้น หรือ การประชุมที่มีคนเยอะ ๆ ก็มีข้อแนะนำว่าหลีกเลี่ยงได้ ควรเลี่ยงไปก่อน แต่ถ้าจะต้องมีการชุมนุมก็จะต้องดูสถานการณ์และอาจจะต้องใช้กฎหมายรองรับ

“สมมติว่าจะมีการชุมนุมแล้วเห็นว่าดูสถานการณ์โรคด้วยว่ามีการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อมากมาย ดูแล้วเข้าไปในที่แออัด และคาดว่ามีคนที่เจ็บป่วยมีอาการ เราก็แนะนำให้เลื่อนไป แต่ถ้าเกิดยังต้องชุมนุมกันต่อก็ต้องดูตามสถานการณ์ อาจจะต้องมีการขอไม่ให้ชุมนุมโดยการใช้กฎหมายออกมา แต่หวังว่าทุกคนจะให้ความร่วมมือมากกว่า เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใชว่าเป็นเรื่องที่ไม่ทำแล้วใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ถ้าเราไม่ทำมีแต่คนเสีย ต้องขอให้ทุกคนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามว่าการประกาศใช้จะมีการปิดด่านชายแดน ด่านธรรมชาติที่มีการลักลอบแอบเข้าประเทศหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรายังมั่นใจในการคัดกรองที่ด่าน แต่ในเรื่องด่านธรรมชาติจากการตรวจสอบยังไม่พบการกระทำดังกล่าว มีการเข้าเมืองที่ถูกต้อง โดยหากมีการผ่านเข้าด่านชายแดนต่าง ๆ โดยหากพบว่ามีผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงแล้วมีอาการป่วยก็จะนำเข้าระบบการรักษาอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าการประกาศออกมาแล้ว หากมีผู้แพร่เชื้อในแบบ super spreader โดยมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการคัดกรอง จะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ตามกฎหมายมีกรณีเรื่องการเลี่ยงการแจ้ง โดยมาตรการปรับ แต่ในบางมาตรการก็จะมีทั้งจำและปรับ แต่ขึ้นอยู่กับกรณี เนื่องจากกฎหมายนี้ออกมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพระระบาด ไม่ได้ออกมาเพื่อลงโทษ

นายอนุทิน กล่าวว่า กฎหมายนี้ป้องกันเพื่อไม่ให้เกิด super spreader ป้องกันไม่ให้เกิดผู้แพร่เชื้อเช่นนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ประกาศเพื่อให้ทราบว่ามีกฎหมายบังคับใช้อยู่ กรณีการจะเดินทางกลับจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยง หากมีอาการป่วยแล้วต้องกักโรค 14 วัน ก็จะต้องรับทราบ โดยเป็นประโยชน์ทั้งผู้เดินทางและนายจ้าง ที่จะรับทราบว่าหากตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงแล้วจะได้รับการคัดกรองเช่นนี้

เมื่อถามว่าจะมีการกระทำใดบ้างที่เข้าข่ายว่าผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า หากมีการสั่งให้ 1 คน อยู่ในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่ผู้นั้นไม่ยอม ก็สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ หรือ การไม่อนุญาตให้เดินทางไปที่ไหน ก็สามารถใช้กฎหมายบังคับได้ การประกาศจึงช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่ป้องกันการควบคุมโรค มีเครื่องมือทางกฎหมาย และช่วยยืดระยะการระบาดที่ 2 ออกไปได้ยาวที่สุด เท่าที่จะทำได้ และหากมีการระบาดระยะที่ 3 ก็จะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

ด้าน รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ กล่าวว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ในช่วงที่มีการคัดกรองแล้วผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยไม่ยอม อ้างว่าตนเองอาการไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ทางทีมแพทย์ได้มาปรึกษากับตนว่าควรทำอย่างไร จึงบอกให้พยายามพูดคุยให้เข้าใจแต่ในที่สุดผู้ป่วยรายนั้นก็ขึ้นรถแท็กซี่กลับไป ซึ่งกรณีอันตรายมาก หากเป็นผู้ที่เป็น super spreader ก็จะเป็นเรื่องใหญ่มาก รวมถึงมีกรณีที่ชาวต่างชาติเดินทางผ่านประเทศใดประเทศหนึ่งใน 1 วัน และจึงเดินทางเข้าประเทศไทย แต่จะนอนพักที่คอนโดมิเนียมของตัวเอง ซึ่งทาง รพ.เอกชนแห่งหนึ่งก็ได้ทำการปรึกษาว่าทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ เพราะเราต้องการควบคุมเขา

ทั้งนี้การประชุมคณะกรรมการลงความเห็นโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยจะนำร่างประกาศให้รัฐมนตรีว่าการสาธารสุขเป็นผู้ลงนามโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับโรคติดต่ออันตรายที่มีการประกาศไปแล้ว มี 13 โรค ได้แก่ 1.กาฬโรค 2.โรคไข้ทรพิษ 3.ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก 4.ไข้เวสต์ไนล์ 5.ไข้เหลือง 6.โรคไข้ลาสซา 7.โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ 8. 8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก 9.โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา 10.โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา 11โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส 12.โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส และ 13.วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก

ที่มา : มติชนออนไลน์