คลายทุกประเด็นสงสัย ก่อนเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 พรุ่งนี้

วัคซีนโควิด-19
SAVO PRELEVIC / AFP

กระทรวงสาธารณสุข เผยกระจายวัคซีนโควิดไปยัง 32 โรงพยาบาลแล้ว ด้าน “หมอยง” คลายทุกระเด็นสังสัยก่อนฉีดพรุ่งนี้ เผยทั่วโลกฉีดไปแล้ว 200 ล้านโดสไม่พบผู้เสียชีวิตจากการฉีดแม้แต่รายเดียว

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564ที่กระทรวงสาธารณสุขนาย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าขณะนี้มีการกระจายวัคซีนโควิด ไปยังโรงพยาบาลกลุ่มเป้าหมาย 18 จังหวัดแล้วโดยเฉพาะ 13 จังหวัดแรกแล้ว

กระจายไปกว่า 32 โรงพยาบาล บางจังหวัดมีการตรวจรับกันเรียบร้อย ซึ่งวันนี้กระทรวงฯ ก็ไปตรวจเยี่ยมการเตรียมการ ก่อนเริ่มฉีดในวันพรุ่งนี้ที่สถาบันบำราศนราดูร ต้องบอกว่าวัคซีนนำเข้าค่อนข้างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยตอนนี้เป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีการฉีดไปจำนวนมาก แต่อย่างที่ทราบแม้จะมีการอนุญาตฉีดแต่ก็ยังอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน มีข้อจำกัดเพราะการวิจัยที่ยังไม่เสร็จสิ้น บางยี่ห้อมีข้อแนะนำ เช่น ซิโนแวค ข้อจำกัดคือผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ยังไม่อยากให้ใช้ เพราะฉะนั้นทางการแพทย์จึงยังไม่ฉีดให้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป

“สอดคล้องกับกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีอายุเกิน 60 ปี แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ตาม ท่านก็อยากฉีด แต่ฉีดไม่ได้ ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขอายุไม่ถึง 60 ปี ทั้งเป็นบุคลากรการแพทย์ จึงสามารถฉีดได้”

“สำหรับแผนฉีดวัคซีนเรามีเป้าหมาย 10 ล้านโดสต่อเดือน และเริ่มแรกอยากให้ไปฉีดในสถานพยาบาลเท่านั้น ขณะนี้กระทรวงฯ กำหนดให้แต่ละจังหวัดจัดแผนบริหารจัดการตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับ กำหนดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของตนเองว่าจะให้วัคซีนวันละเท่าไหร่”

ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวว่าการระบาดของโควิด 19 ครั้งนี้ถือเป็นการระบาดใหญ่ในรอบร้อยปี เพราะถ้าย้อนไปเมื่อ ปี พ.ศ.2461 ที่มีการระบาดใหญ่ของ “ไข้หวัดใหญ่สเปน”

และมีผู้คนเสียชีวิตมาก ในปีนั้นประเทศไทยมีประชากรแค่ 8 ล้านคน แต่เสียชีวิตไป 8 หมื่นคน หรือประมาณ 1% เท่านั้น แต่เหตุการณ์ทั้งหมดใช้เวลา 2 ปีจึงสงบ ในครั้งนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยปะละเลย ก็จะทำให้ประชากรเสียชีวิต 1% หรือประมาณ 7 แสนคน เพราะตอนนี้ประชากรไทยมีเกือบ 70 ล้านคน ก็ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าเช่นกันถึงจะสงบ

“แน่นอนเรายอมรับไม่ได้ถ้าจะให้สูญเสียขนาดนั้น จึงมีมาตรการกันมากมายในตอนนี้ สำหรับทางออกที่ยุติโรคนี้ได้คือวัคซีน ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่โลกเราสามารถผลิตวัคซีนมาต่อสู้กับโรคใหม่ได้ภายในไม่ถึง 1 ปี วัคซีนที่ฉีดขณะนี้ทั่วโลกมีหลายประเภท แต่ที่นำเข้าไทยมี 2 ชนิดคือ ซิโนแวค กับแอสตร้าเซนเนก้า”

“ทั้งสองมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน คือป้องกันความรุนแรงของโรคได้ดีมาก ป้องกันการติดเชื้อได้ระดับดีมาก ฉะนั้นผมคิดว่าถ้ามีวัคซีนเราก็จะผ่อนคลายได้เรื่อยๆ ถ้าถามว่าควรฉีดไหม ไม่ต้องคิดเลย ควรฉีดกันในจำนวนมากเพื่อป้องกันทั้งเขาและเรา เป็นการฉีดวัคซีนเพื่อชาติ สุดท้ายจะสงบ เศรษฐกิจจึงจะฟื้นฟูขึ้นมา กลับสู่ภาวะปกติที่ดีขึ้น”

ทำไมต้องฉีดซิโนแวคกับคนอายุ 18-59 ปี

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า หลายคนสงสัยทำไมต้องฉีดวัคซีนซิโนแวคในคนอายุ 18-59 ปี จึงขอชี้แจงว่าเนื่องจากวัคซีนตัวนี้ เป็นวัคซีนใหม่ การศึกษาในระยะที่ 3 ที่ทำการศึกษาในคน มีการศึกษาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 3% เท่านั้น ฉะนั้นข้อมูลจริงตอนนี้ จึงไม่รู้ว่าถ้าให้วัคซีนกับผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปแล้วผลในการป้องกันโรคจะเป็นอย่างไร อาการแทรกซ้อนเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนตัวนี้ไม่ได้ถึงกับเป็นข้อห้าม เราคงต้องรอการศึกษาอีกนิด เชื่อว่าอาจจะ1-2 เดือนจะมีข้อมูลมากขึ้น แล้วเราค่อยมาปรับข้อมูลทีหลังว่าฉีดให้คนอายุ 60 ปี ได้หรือไม่ได้

แต่สำหรับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า ฉีดได้ทุกอายุ ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ไม่เป็นข้อแม้เลย ไม่ได้เป็นปัจจัยข้อห้ามด้วย ถ้าถามว่าฉีดกับคนอายุ 90 ปีได้หรือไม่ คำตอบคือได้

ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ลงมา จำเป็นต้องได้รับฉีดเช่นกันแต่จะเป็นกลุ่มสุดท้าย เพราะขณะนี้วัคซีนทำการศึกษากับคนอายุ 18 ปีขึ้นไป และตอนนี้วัคซีนเกือบทุกบริษัทกำลังลงไปศึกษาในเด็ก หลังจากฉีดให้ผู้ใหญ่เต็มที่แล้วเด็กจึงเป็นกลุ่มสุดท้าย เพราะส่วนใหญ่เด็กที่เป็นโควิดมักไม่มีอาการรุนแรง

การใช้วัคซีนทั่วโลกยังไม่พบผู้เสียชีวิต

ตอนนี้ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 200 ล้านโดสในจำนวนนี้มีบางประเทศฉีดเข็มแรกครอบคลุมประชากรไปแล้ว 80% เช่นอิสราเอล ขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ตั้งแต่ 11 ธ.ค.63 เริ่มฉีด 20 ธ.ค.63 โดยฉีดให้คนที่อายุเกิน 60 ปีก่อน แล้วค่อยๆ ขยายลงมาอายุ 55 ปี 40 ปี จนมาสู่นักเรียน จนปัจจุบันฉีดให้กับประชากรตั้งแต่อายุ 16 ปี ทำให้ ตั้งแต่เดือน ธ.ค.จำนวนผู้ป่วยในอิสราเอลลดลงย่างเห็นได้ชัด อัตราการเสียชีวิตต่อวันลดลงแบบมีนัยยะสำคัญ

“ส่วนอาการแทรกซ้อนหลังฉีด ผมบอกเลยว่าทั่วโลกที่ฉีดไปแล้วกว่า 200 ล้านโดส ไม่มีใครเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนเลยแม้แต่คนเดียว ยกตัวอย่างในอเมริกา เดือนแรกฉีดไป 13 ล้านคน ในจำนวนนี้มีที่แพ้แบบรุนแรงประมาณ 5 ในล้านคน แต่ไม่มีใครเสียชีวิต แล้วมีจำนวน 113 คนเสียชีวิตภายหลังฉีดเขาก็สืบสวนหาสาเหตุอย่างละเอียดทั้งมีการผ่าศพดูปรากฏว่าทั้ง 113 คน ไม่ได้เสียชีวิตเกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิดเลย มีบางคนเกิดจากอุบัติเหตุ บางคนจากโรคประจำตัวที่เขามีอยู่แล้ว”

ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีด

ต้องบอกว่าไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภูมิต้านทานก่อนและหลังฉีด ยกเว้นเพื่อการวิจัยเท่านั้น ว่าฉีดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ในภาคประชาชนทั่วไปไม่มีความจำเป็นต้องดิ้นรนหาตรวจภูมิต้านทาน

ไม่แนะนำให้ฉีดพร้อมวัคซีนชนิดอื่น

ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น เพราะถ้าหากมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น เราไม่รู้ว่าอาการนั้นเกิดจากวัคซีนตัวใด จึงอยากให้ฉีดห่างกันสองสัปดาห์เป็นอย่างน้อย ยกเว้นจำเป็นเร่งด่วนในบางโรค เช่น โรคพิษสุนัขบ้า อาจจะต้องได้รับฉีดวัคซีนของโรคนี้ทันทีรอไม่ได้

การให้วัคซีนเข็มที่1,2 สามารถสลับยี่ห้อได้ไหม เช่น ซิโนแวค ต่อด้วยแอสตร้าเซนเนก้า?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ทำการศึกษา แต่วัคซีนตัวอื่นที่เคยมีก็ฉีดสลับยี่ห้อบ้าง เพราะฉะนั้นในอนาคต ทั่วโลกกำลังทำการศึกษากันอยู่ ผมเชื่อว่าในอีก 3-4 เดือนคงมีข้อมูลออกมา

ฉีดแล้วก็ยังเป็นโควิดได้

เพราะข้อมูลต่าง ๆ บอกแล้วว่าไม่ได้ป้องกัน 100% แต่ลดอาการจากติดเชื้อ ส่วนคนที่เป็นโควิดแล้วภูมิต้านทานจะถูกสร้างขึ้นมา แต่ภูมิต้านทานไม่ได้อยู่ตลอดไป จากการศึกษาของเราพบว่า คนที่เป็นโควิดมาแล้ว3 เดือน เราตรวจ 300 คน บอกได้เลยว่า 90% ยังมีภูมิต้านทานอยู่ แต่จะค่อยๆ ลดลงไปหลัง 6 เดือน ดังนั้นถ้าเป็นโควิดแล้วผมขอแนะนำให้ไปฉีดวัคซีนโควิดหลังผ่าน 6 เดือนเป็นต้นไป

ฉีดคนท้องให้นมบุตรได้หรือไม่

ในคนท้องมีคนฉีดวัคซีนเยอะ โดยเฉพาะเชื้อตาย เช่น ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในคนท้องแล้ว ก็ยังฉีดบาดทะยักต่อได้ แต่เนื่องจาก 2 ตัวที่ไทยนำเข้ายังเป็นตัวใหม่ ยังไม่มีการศึกษาในคนท้อง จึงไม่แนะนำให้คนท้องฉีด ยกเว้นแต่ว่าคนท้องคนนั้นเสี่ยงมาก เช่น เป็นบุคลากรด่านหน้าที่อยู่กับโรค แล้วถ้าเขาติดโรคไปแล้วความเสี่ยงของการเกิดโรค จะเป็นอันตรายต่อชีวิตเขาและลูกในท้อง อาจจะต้องถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป โดยเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยง กับผลที่จะได้รับ แล้วในทางปฏิบัติจริงๆ การฉีดวัคซีนในสตรีไม่จำเป็นต้องตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่ถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ เข็มถัดไปก็ไม่ต้องฉีด.