คณะแพทย์ จุฬาฯ เปิดรับอาสาสมัครฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 1-2 สลับชนิด

หมอยง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด ในเข็มที่ 1-2 ระหว่าง “ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า”

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ หมอยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ประกาศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับอาสาสมัครร่วมโครงการวิจัยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 1 และ 2 แบบสลับชนิด

หมอยง ระบุว่า ในปัจจุบันการให้วัคซีนโควิด-19 ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันทั้งเข็ม ที่ 1 และ 2 ด้วยเหตุผลที่ว่า บางคนฉีดเข็มที่ 1 แล้วเกิดอาการแพ้ จำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 2 ต่างชนิดกัน เช่น เข็มแรกฉีดซิโนแวค เข็มที่สองฉีดเป็นแอสตร้าเซนเนก้า

สำหรับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ต่างชนิดกัน จะเป็นประโยชน์ในกรณีที่วัคซีนขาดแคลน และต้องการฉีดเข็มแรกให้มากที่สุด โดยไม่ต้องเก็บวัคซีนไว้เข็มที่ 2 และเมื่อมีวัคซีนเข็มที่ 2 อาจจะใช้ต่างชนิดกันได้ ดังนั้นการสลับเปลี่ยนวัคซีนจึงต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด ก่อนที่จะนำไปใช้จริง โดยโครงการนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมแล้ว

โครงการวิจัยดังกล่าว จะเปิดรับสมัครอาสาสมัครมารับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 ต่างชนิดกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 : ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นยี่ห้อซิโนแวค และ เข็มที่ 2 เป็นยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า
  • กลุ่มที่ 2 : ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นยี่ห้อแอสตร้าเซนเนก้า และเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้อซิโนแวค

ทั้งนี้ จะมีการบันทึกอาการข้างเคียงของวัคซีน และตรวจวัดภูมิต้านทานเป็นระยะ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางวิชาการก่อนนำไปใช้จริง