ผอ.สถาบันวัคซีน ขอโทษ จัดหาวัคซีนไม่ทัน เตรียมรับบริจาคจากโคแวกซ์

นพ.นคร-เปรมศรี

สถาบันวัคซีน แจงขั้นตอนจัดหาวัคซีน ขอโทษประชาชนนำเข้าวัคซีนล่าช้า เหตุไวรัสกลายพันธุ์ทำระบาดหนัก ไม่เป็นไปตามเป้า ยันเตรียมเจรจาโคแวกซ์

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 การแถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในประเด็นเรื่อง ระบบและการได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันวัคซีนฯ ทำหน้าที่เจรจาหาวัคซีน โดยการติดต่อผู้ผลิตวัคซีนทั้งที่มีวัคซีนแล้วและที่ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย และได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา

พร้อมได้พยายามหาช่องทางจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า แม้ว่าวัคซีนจะอยู่ในขั้นตอนการวิจัย จนกระทั่ง สธ. ออกประกาศ ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ มาตรา 18 (4) ที่เปิดให้สถาบันวัคซีนฯ ทำการจองวัคซีนล่วงหน้าที่อยู่ในระหว่างการวิจัยได้ จึงเป็นที่มาในการจัดหาวัคซีนแอสตร้าฯ 61 ล้านโดส เป็นการจองล่วงหน้าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563

นายแพทย์นคร กล่าวว่า ก่อนการลงนามในส่วนใดจะมีการส่งปรึกษาหารือหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศเพื่อให้พิจารณาก่อน ทุกอย่างในการดำเนินงานของภาครัฐจำเป็นต้องมีระบบระเบียบ จำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ เป็นที่มาที่ทำให้เกิดความรับรู้ว่า การดำเนินการการจัดหาวัคซีนของเราอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องของข้อจำกัดที่มี

“ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ทางสถาบันวัคซีนฯ แม้ว่าจะได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังจัดหาวัคซีนได้ในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิด ในการระบาดโควิด-19 ที่เราไม่เคยเจอ และ การกลายพันธุ์ที่ไม่สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า ทำให้การระบาดรวดเร็วกว่าช่วงปีที่แล้ว การจัดหาวัคซีนไม่ตรงสถานการณ์ ต้องขอกราบอภัยอีกครั้ง” นายแพทย์นคร กล่าว

ขณะนี้ไทยยังอยู่ในระหว่างการเข้าร่วมโคแวกซ์ แต่ยังไม่ได้ลงนามเพื่อจัดหาวัคซีนร่วมกัน สถาบันวัคซีนได้เตรียมการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาส่งหนังสือประสานไปยังหน่วยงานชื่อ Gavi เพื่อขอเจรจาจัดหาวัคซีนร่วมกับโคแวกซ์ เพื่อจัดหาวัคซีนปี 2565 ก่อนจะนำเข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การดำเนินงานในระดับกรมควบคุมโรค จะมีทีมเจรจากับบริษัทวัคซีนในเรื่องของข้อมูลผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน พิจารณาราคา ความเหมาะสมในประเทศไทย อย่างเช่น การขนส่งและจัดเก็บ โดยเมื่อเริ่มมีการใช้ในต่างประเทศแล้วก็จะมีการพิจารณาผลข้างเคียงของวัคซีนด้วย โดยทำงานร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เรื่องของวัคซีน

ทั้งนี้ ในส่วนการลงนามไม่เปิดเผยข้อมูลในเอกสารต้องมีการพิจารณาเอกสารอย่างรอบคอบ โดยส่งไปให้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่วมด้วยก่อนลงนาม

“ส่วนหลักฐานเอกสารการขอจะมีข้อความที่สะท้อนถึงข้อผูกมัด ที่ต้องดำเนินการร่วมกัน จะต้องมีการตรวจสอบเอกสารก่อนลงนาม และขั้นสุดท้ายคือ สัญญาการสั่งซื้อ เช่น กรณีของวัคซีนบริษัทไฟเซอร์ ที่มีการลงนามไปเมื่อวานนี้ (20 ก.ค) การทำงานแต่ละขั้นมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยสูงสุด ทั้งเงื่อนไข การวางเงินจอง การจ่ายเงิน การส่งมอบวัคซีน ราคา และการตรวจสอบคุณภาพวัคซีน ต้องปรึกษากรมบัญชีกลาง เป็นต้น” นายแพทย์โสภณ กล่าว


นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเจรจาเงื่อนไขของวัคซีน จะไม่ล่าช้ากว่ากำหนดการส่งมอบ เพราะในการเจรจาเราจะรู้แล้วว่าวัคซีนที่มี จะส่งมอบได้เมื่อไหร่ เช่น บริษัทไฟเซอร์ ตั้งแต่เริ่มต้นพูดคุยกันก็ทราบว่ามีประเทศต่าง ๆ จองวัคซีนเข้ามาเยอะ ส่วนของประเทศไทยในวันที่เราตัดสินใจสั่งซื้อเป็นกำหนดการส่งมอบวัคซีนในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หากว่าเราอยากได้เร็วขึ้นก็ต้องมีการเจรจาต่อรองให้ได้เร็วขึ้น บางครั้งไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการทั้งหมด แม้ว่าทางบริษัทให้คำตอบว่ามีความพยายามที่จะจัดส่งให้เร็วขึ้น