หมอรามาฯ งง คำสั่งสธ. ใช้ แอนติเจน เทสต์ คิท ผลบวก ไม่นับว่า “ป่วย”

antigen

นพ.ศุภโชค เกิดลาภ รพ.รามาธิบดี โชว์เอกสารคำสั่ง สธ. เผยข้อกำหนดยังไม่นับผลบวกจาก Antigen test kit เป็นผู้ติดเชื้อ เชื่อยอดป่วยจริงสูงกว่านี้ 8-9 เท่า

วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์เอกสารบันทึกข้อความ ส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 โดยได้ชี้ให้เห็นนโยบายการบริหารจัดการที่ได้ขอให้หน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในข้อ 5 ที่ระบุว่า

“ให้ยกเลิกการ Active Case Finding (ACF) โดยการทำ RT-PCR แต่ให้ใช้ Antigen test self-test Kits (ATK) แทนในการคัดกรองเบื้องต้น โดยกรณีที่ผู้ป่วยที่พบผล Positive จะเป็นกลุ่ม probable case ซึ่งยังไม่นับเป็นกลุ่มป่วย ไม่ต้องรายงานในระบบการรายงานโรคติดเชื้อ COVID-19”

จากเอกสารดังกล่าว นพ.ศุภโชค มองว่า การรายงานยอดผู้ติดเชื้อวันนี้ (28 ก.ค.) จำนวนกว่า 16,000 คน น่าจะไม่ใช่ยอดผู้ป่วยที่แท้จริง เพราะขณะนี้ประเทศไทยเป็นการรายงานเฉพาะผู้ป่วยที่พบผลยืนยันการติดเชื้อจากการตรวจแบบ RT-PCR เท่านั้น ซึ่งมีปริมาณการตรวจที่จำกัดในแต่ละวัน

แต่หากนับกรณีผู้ป่วยมีผลเป็นบวกที่ตรวจจาก Antigen test kit และที่ทำการตรวจเชิงรุกด้วย ยอดผู้ป่วยติดเชื้ออาจจะสูงขึ้นกว่านี้ ซึ่งมีผู้ที่ทำ Simulation model ไว้ว่า ยอดผู้ป่วยจริงอาจจะมากกว่าที่ปรากฎ 8-9 เท่า ดังนั้น หากมีการตรวจหาผู้ป่วยได้แบบไม่จำกัด ยอดผู้ติดเชื้ออาจสูงถึง 100,000 คนต่อวัน

ขณะที่ เมื่อวานนี้ (27 ก.ค.) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ชุดตรวจเร็ว (Antigen Test Kit : ATK) ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้มีหลายชนิด คุณภาพแตกต่างกัน บางชนิดความไวความจำเพาะอาจไม่ถึง 90% แนะนำให้ใช้ชุดตรวจที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้ ให้ผลร้อยละ 95 ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม อาจพบผลบวกลวงได้ประมาณร้อยละ 3-5 แปลว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งผลบวกแล้วอาจจะไม่ได้ติดเชื้อจริง เรียกผลบวกนี้ว่า “ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ” หากนำไปรวมกับผู้ติดเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อจริง ๆ ได้ ส่วนผลลบแต่สงสัยติดเชื้อต้องตรวจซ้ำใน 3-5 วัน

หากตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ให้ผลบวกและเข้าเกณฑ์เงื่อนไข สามารถเข้าระบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation : HI) ได้ทันที ไม่ต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ โดยจะต้องอยู่คนเดียวใช้ห้องนอนคนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้าน แยกกิน แยกอยู่ แยกใช้ห้องน้ำ แยกทิ้งขยะจากผู้อื่นโดย สปสช. จะสนับสนุนให้เงินกับโรงพยาบาลที่ดูแล ในการจัดส่งอาหาร 3 มื้อถึงบ้าน เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาที่จำเป็น

หากเริ่มมีอาการหรือมีโรคประจำตัวทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะมีการส่งยาให้ที่บ้าน หรือหากอยู่บ้านไม่ได้ ต้องเข้าการแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) จะให้ลงชื่อในใบยินยอมรับการรักษา และนำตัวไปที่ CI ศูนย์พักคอย ฮอสปิเทล หรือโรงพยาบาล มีความจำเป็นจะต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ ระหว่างรอผล จะมีการแยกผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK ออกมา เพื่อความปลอดภัยและความรวดเร็วในการรักษา