กทม.สั่ง 7 เขตใกล้ “เจ้าพระยา” ยกของขึ้นที่สูง 1-5 ตุลาคมนี้

กทม. เตือน ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังน้ำขึ้นสูง 1-5 ต.ค. นี้
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

กทม.เตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขต “ดุสิต – พระนคร – สัมพันธวงศ์ – บางคอแหลม – ยานนาวา – บางกอกน้อย -คลองสาน” เตรียมยกของขึ้นที่สูง หลังเขื่อนเจ้าพระยา – เขื่อนป่าสัก เตรียมระบายน้ำเพิ่ม 1-5 ตุลาคมนี้

วันที่ 30 กันยายน 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.- 2 ต.ค.2564 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน จะทำให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าว กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในอัตราประมาณ 2,750 – 2,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที)และมีปริมาณน้ำหลากจากแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดอุทัยธานี (Ct. 19) อยู่ในอัตรา 450 ลบ.ม./วินาที ประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 3,200 ลบ.ม./วินาที

จึงมอบหมายกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ร่วมกับการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งและพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 2,700 ลบ.ม./วินาที ประกอบกับมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพความปลอดภัยและความมั่นคงของเขื่อน

จึงจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในอัตรา 900 – 1,200 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (C.29A) อยู่ในอัตราประมาณ 3,000- 3,200 ลบ.ม./วินาที และส่งผลให้ระดับน้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 1.20- 2.40 เมตร และท้ายเขื่อนพระรามหกเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 2.30 – 2.80 เมตร ในช่วงวันที่ 1-5 ต.ค.2564

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว กรุงเทพมหานครได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ ที่เป็นลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำ ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร เรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ

ตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ในช่วงน้ำทะเลขึ้น จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วม แนวกระสอบทราย พร้อมวัสดุอุปกรณ์ และกระสอบทราย เพื่อแก้ไขจุดที่คาดว่าอาจจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้ามาในพื้นที่ชั้นในอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอให้หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประชาชนที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่นอกแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วมได้

เตือน 7 เขตใกล้เจ้าพระยา ยกของขึ้นที่สูง

โดยจากการสำรวจมีบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกแนวคันป้องกันน้ำท่วม 11 ชุมชน จำนวน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ได้แก่ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และคลองสาน จึงขอให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูงในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักการระบายน้ำ https://dds.bangkok.go.th/ ตลอด 24 ชั่วโมง

 

ภาพจาก มติชน

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจ ผู้ว่าฯ อัศวิน ได้โพสต์ข้อความเปรียบเทียบความเสี่ยงน้ำท่วมใน กทม. ในช่วงปี 2554 – ปัจจุบัน ระบุว่า กทม ตั้งอยู่ตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นที่รวมของแม่น้ำหลายสายมารวมกัน ในช่วงหน้าฝนเมื่อเกิดฝนตกสะสมทางตอนบนของประเทศ ปริมาณน้ำที่ไหลมาตามแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จะเพิ่มมากขึ้น และเมื่อไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมากทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น

ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกควบคุมการระบายน้ำโดยเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท หากปริมาณน้ำเหนือเขื่อนมีมาก การระบายน้ำก็จะเพิ่มสูงขึ้น แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ก็เป็นเส้นทางน้ำที่ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.อยุธยา โดยมีเขื่อนพระราม 6 ควบคุมการระบายน้ำ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเขื่อนทั้ง 2 แห่งมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่าน กทม. หลายคนกังวลจะเกิดน้ำท่วม กทม. เหมือนปี 2554

ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในปี 2554 นั้น เกิดจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุที่เข้ามาในประเทศไทยหลายลูก มีปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักสูงกว่าในตอนนี้มากพอสมควร เมื่อเทียบปริมาณน้ำในปีนี้แล้วใกล้เคียงกับปี 2563 ซึ่งใน กทม.ก็ไม่มีน้ำท่วมตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา

และจากน้ำท่วมปี 2554 กทม.ได้เสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สูงขึ้น เพื่อรองรับปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น แต่ยังมีจุดที่อาจจะเกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ได้ ที่เป็นชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่ง กทม.ได้วางกระสอบทราย เป็นคันกั้นน้ำ และเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้พร้อมแล้ว

กทม.เตรียมพร้อมรับมือปริมาณน้ำให้แม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีสถานีวัดระดับน้ำตลอดแนวแม่น้ำ เพื่อเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตลอด 24 ชั่วโมง หากเพิ่มสูงขึ้นจนมีความเสี่ยง กทม.จะแจ้งให้ประชาชนที่อยู่ในจุดเสี่ยงทันที