วัคซีน #โมเดอร์นา 555 บาท ถูกกว่า รพ.เอกชนหรือไม่ ดร.อนันต์ แจง

อภ.แจงเหตุผลนำเข้าโมเดอร์นาช้า
(Photo by Fred TANNEAU / AFP)

“ดร.อนันต์” อธิบายเหตุผล รพ.เอกชน เปิดจอง “โมเดอร์นา” สูงกว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หลังชาวเน็ตดราม่าหนัก ดัน #โมเดอร์นา ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

วันที่ 16 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเปิดให้องค์กรนิติบุคคลและโรงพยาบาลจองฉีดวัคซีนทางเลือก “โมเดอร์นา” ปริมาณ 50 ไมโครกรัม (ครึ่งโดส) เป็นเข็มกระตุ้น อัตราเข็มละ 555 บาท ในวันที่ 29 ตุลาคม และจะเริ่มฉีดในวันที่ 25 มกราคม 2565

กรณีดังกล่าว ทำให้ผู้ที่จองวัคซีนโมเดอร์นาไว้กับทางโรงพยาบาลเอกชนก่อนหน้านี้ ต่างออกมาแสดงความเห็นบนโซเชียล โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ผ่าน #โมเดอร์นา จนติดอันดับความนิยมในไทย โดยส่วนใหญ่เกิดคำถามว่า ทำไมราคาจองวัคซีนโมเดอร์นากับราชวิทยาลัยฯ ถึงถูกกว่าที่ภาคเอกชนเปิดจอง อีกทั้งยังได้ฉีดเร็วกว่า

ต่อมา ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

ดร.อนันต์ ระบุว่า “Moderna 555 บาท คือ ครึ่งโดส นะครับ ราคาที่จองไปเป็น 100 mcg/dose ไม่ได้จองแพงครับ”

ในวันเดียวกัน ดร.อนันต์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กอีกว่า Moderna เข็มกระตุ้นที่ใช้โดสต่ำลง คือ จาก 100 mcg เป็น 50 mcg มีข้อมูลยืนยันออกมาจาก Moderna ว่าสามารถทำได้ ค่าแอนติบอดีที่กระตุ้นมาได้ด้วยปริมาณวัคซีนที่ลดลงครึ่งหนึ่ง สามารถพุ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับหลังเข็มสองใหม่ ๆ มาได้ประมาณ 70% รวมถึงผู้สูงอายุด้วย

ภาพนี้ (ภาพด้านล่าง) เป็นข้อมูลที่ Moderna แสดงออกมาว่า ค่าแอนติบอดี (NAb) หลังเข็มสอง 1 เดือน อยู่ที่ 1081 พอผ่านไป 6-8 เดือน ลดลงเหลือ 126 และ ถูกกระตุ้นด้วยเข็มสามปริมาณ 50 mcg หรือ ครึ่งโดส ค่า NAb พุ่งสูงขึ้นมาที่ 1893 และ 1762 ในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งเป็นข้อมูลที่แสดงว่า การลดโดสครึ่งนึงเป็นเข็มกระตุ้นได้

แต่ข้อจำกัดของข้อมูลคือ การทดสอบนี้มาจากผู้ได้ Moderna x2 มา ยังไม่มีข้อมูลว่า ผู้ได้วัคซีนรูปแบบอื่นเช่นเชื้อตาย หรือ Viral vector จะสามารถถูกกระตุ้นด้วยปริมาณโดสดังกล่าวแล้วภูมิจะกระตุ้นได้มากน้อยอย่างไร คงต้องเก็บข้อมูลกันต่อไป