ศบค.ชี้จุดเสี่ยงโอมิครอนระบาดตรุษจีน Health Care Worker แพร่ 5 จังหวัด

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.ห่วงเทศกาลตรุษจีนทำโอมิครอนระบาด วางมาตรการเข้ม ร้านอาหาร ตลาด ซูเปอร์มาเก็ต ศาลเจ้า เผยคลัสเตอร์ใหม่ยังโผล่เพียบ เฉพาะคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ หรือ Health Care Worker พบระบาดไปแล้ว 5 จังหวัด  ขณะที่กทม.ยอดป่วยใหม่พุ่งไม่หยุด ล่าสุดเจอคลัสเตอร์ค่ายมวยที่บางกอกน้อยด้วย จี้ประชาชนเร่งไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ชี้ช่วยได้ทั้งลดป่วยหนักและเสียชีวิต

วันที่ 25 มกราคม 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์ทั่วโลก สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวม 354,904,903 ราย อาการรุนแรง 95,596 ราย รักษาหายแล้ว 281,820,521 ราย และเสียชีวิต 5,622,314 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 72,958,690 ราย 2. อินเดีย จำนวน 39,543,328 ราย 3. บราซิล จำนวน 24,134,946 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 16,800,913 ราย และ 5. สหราชอาณาจักร จำนวน 15,953,685 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก จากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,391,357 ราย

“ประเทศที่ยังมีผู้ติดเชื้อเกินแสนคนมีสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สเปน ส่วนหลักหมื่นปลาย ๆ หรือเกือบแสนมีสหราชอาณาจักร อิตาลี เยอรมนี ส่วนในประเทศเพื่อนบ้านเรา ประเทศที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ ญี่ปุ่นจากหลักพันราย เพิ่มขึ้นมาเป็นหลักหมื่นราย วันนี้ที่รายงานจำนวน 48,411 ราย” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว และว่า

“ส่วนประเทศที่มีชายแดนติดกับบ้านเราทั้งเมียนมา มาเลเซีย ลาว กัมพูชา ยอดผู้ติดเชื้อยังไม่ได้เพิ่มสูงมาก รวมถึงยอดผู้เสียชีวิตก็เพิ่มไม่มาก”

ส่วนสถานการณ์บ้านเราวันนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 6,718 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 167,922 ราย หายป่วยแล้ว 119,274 ราย เสียชีวิตสะสม 359 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,391,357 ราย หายป่วยแล้ว 2,287,768 ราย เสียชีวิตสะสม 22,057 ราย

และยังมีผู้ป่วยอยู่ในระบบการรักษาจำนวน 81,532 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 40,343 ราย รพ.สนามและอื่น ๆ 41,189 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 548 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 114 ราย และวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิต 12 คน

ยังพบผู้เสียชีวิตไม่ได้รับวัคซีน-รับวัคซีนไม่ครบ

โดยค่ากลางของผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 69 ปี เป็นชาย 9 ราย หญิง 3 ราย อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 ราย คิดเป็น 58% และเป็นผู้มีโรคเรื้อรัง 3 ราย คิดเป็น 25% ทั้ง 2 ส่วนคิดเป็น 83% ของผู้เสียชีวิตในวันนี้

ส่วนถ้าแยกผู้เสียชีวิตตามพื้นที่พบว่า อยู่ในภาคใต้มากที่สุด 5 ราย รองลงมาเป็นภาคตะวันออก 4 ราย กรุงเทพมหานคร 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย และในจำนวนนี้มีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน 5 ราย และรับวัคซีนไม่ครบโดส 3 ราย และได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 4 ราย

ชี้คุมสถานการณ์ได้ทั้งยอดป่วยใหม่และเสียชีวิต

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า ถ้ามาดูการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อตั้งแต่ช่วงปีใหม่ จากกราฟจะเห็นว่า ยอดรายงานที่เป็นเส้นสีน้ำเงินจะเห็นว่ามีทิศทางที่ลดลงจากเส้นสีเทา แต่หลังจากปีใหม่เส้นกราฟยังคงทรงตัว และเริ่มเกาะไปกับเส้นฉากทัศน์ที่สาธารณสุขอยากเห็น (เส้นสีเขียว) ซึ่งมีการติดเชื้อระดับปานกลาง

“สถานการณ์ในขณะนี้ถึงแม้ว่ายังมีผู้ติดเชื้อที่แนวโน้มไม่เพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ และจะต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด และวัคซีนหากรับครบโดสแล้วควรรับเข็มกระตุ้นด้วย เพื่อทิศทางและแนวโน้มการติดเชื้อจะได้ต่ำกว่าเส้นสีเขียว และทำให้เราสามารถอยู่กับโรคได้”

ส่วนการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตจะเห็นว่า ยอดการรายงานยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ และยังคงลดลงช้า ๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์โลก แม้ผู้ติดเชื้อเพิ่ม แต่อัตราเสียชีวิตกลับไม่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการรับวัคซีนครบโดส ขณะที่การแพร่กระจายของสายพันธุ์โอมิครอนตอนนี้กระจายครบไปทุกจังหวัดแล้ว

จี้เร่งไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

“การรับเข็มกระตุ้นสำคัญมาก ไม่ว่ารับยี่ห้อใดก็ตาม เมื่อผ่านไป 3 เดือนภูมิคุ้มกันก็จะเริ่มลดลง จึงควรที่จะไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐยืนยัน พบว่าการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดการป่วยหนักและลดการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากสายพันธุ์โอมิครอนได้ ” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวย้ำเรื่องวัคซีนเข็มกระตุ้น

สำหรับการเก็บข้อมูลของประเทศไทยในเรื่องของประสิทธิผลต่อสายพันธุ์โอมิครอน จากการเก็บข้อมูลที่ภูเก็ต กรุงเทพฯและเชียงใหม่ โดยประสิทธิผลในกรุงเทพฯพบว่าช่วยในเรื่องการป้องกันได้ 60-75% เชียงใหม่ถ้าเป็นเชื้อตายอยู่ที่ 28% ถ้าเป็นวัคซีน mrna อยู่ที่ 90% และประสิทธิภาพของการเสียชีวิตอยู่ที่ 97%

แต่เมื่อมาดูผลของวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 พบว่า ที่ภูเก็ตสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึง 94.2% ป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 100% เช่นเดียวกับกรุงเทพฯและเชียงใหม่ก็สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 96-98% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 97-99% ขณะที่สายพันธุ์โอมิครอนที่มีการระบาดที่กาฬสินธุ์เราพบว่ามีการป้องกันการติดเชื้อได้อยู่ในช่วง 79-89%

ส่วนผู้มาขอรับวัคซีน วันที่ 24 มกราคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 22,996 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 47,236 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 218,124 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 24 มกราคม 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 112,759,859 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 52,088,514 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 48,208,002 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 12,463,343 ราย

กทม.ยังนำโด่งป่วยใหม่

สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดวันนี้ อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,269 ราย และมียอดผู้ป่วยใหม่เกินกว่าพันรายมา 6 วันติดต่อกันแล้ว รวมยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีมาอยู่ที่ 19,010 ราย รองลงมาเป็นสมุทรปราการ อยู่ที่ 556 ราย ยอดสะสมอยู่อันดับ 3 จำนวน 13,073 ราย

นนทบุรี 411 ราย ภูเก็ต 354 ราย ชลบุรี 314 ราย(ยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่อันดับ 2 จำนวน 14,948 ราย) ขอนแก่น 247 ราย ปทุมธานี 228 ราย เลย 152 ราย นครราชสีมา 144 ราย และอันดับ10 มี 2 จังหวัด ได้แก่ศรีสะเกษและอุดรธานี จังหวัดละ 118 ราย

ส่วนการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน แยกตามการติดเชื้อตามคลัสเตอร์ต่าง ๆ มาจากโรงงานและสถานประกอบการสูงสุด พบที่สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย กาญจนบุรี คงต้องเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งพนักงานเคร่งครัดมาตรการ COVID Free Setting หากพบผู้ติดเชื้อต้องดำเนินการด้วย Bubble&Seal ด้วย

คลัสเตอร์ Health Care Worker กระจาย 5 จังหวัด

ส่วนคลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา พบคลัสเตอร์งานศพเจอที่ขอนแก่นและอุดรธานี งานแต่งงานที่น่านและศรีสะเกษ, คลัสเตอร์ตลาดพบที่ขอนแก่น เชียงใหม่ มุกดาหาร, คลัสเตอร์ร้านอาหารสถานบันเทิง พบที่จันทบุรี ร้อยเอ็ด และอุดรธานี, คลัสเตอร์ค่ายทหารตำรวจ พบที่ ลพบุรี และมุกดาหาร

และคลัสเตอร์สถานพยาบาล หรือ Health Care Worker พบ 5 จังหวัด โดยพบที่ กทม. 22 ราย นนทบุรี 7 ราย อุบลราชธานี 6 ราย ชลบุรี 5 ราย และสมุทรปราการ 5 ราย

“การพบการติดเชื้อในสถานพยาบาล และในบุคลากรทางการแพทย์ จากการลงไปสอบสวนโรคพบว่า ส่วนใหญ่ติดมาจากในครอบครัว ญาติสนิท หรือเพื่อน ดังนั้นการป้องกันต้องเริ่มจากการที่เราคงต้องเข้มงวดมาตรการส่วนบุคคล ถึงแม้จะอยู่ในครอบครัว ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด” พญ.สุมนีกล่าว

กทม.พบคลัสเตอร์ค่ายมวยที่บางกอกน้อย

สำหรับสถานการณ์ในกรุงทพมหานคร กทม.มาอันดับ 1 มา 10 วันแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และ ศบค.ชุดเล็กมีความห่วงใย มีการลงไปสอบสวนแต่ละคลัสเตอร์ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. มีการนำเข้าที่ประชุม และมีการรายงานเป็นระยะ ๆ

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมามีรายงานพบการติดเชื้อในค่ายมวยในเขตบางกอกน้อย พบ 11 คน มีปัจจัยเสี่ยงมาจากการรับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ใช้อุปกรณ์ซ้อมมวยด้วยกัน เช่น ใช้นวม เชือกกระโดด

ขณะที่ในสถานที่ ไม่มีการตั้งจุดแอลกอฮอล์เจล ไม่มีการคัดกรองบุคคลภายนอกที่เข้ามาซ้อมมวย มีการทำกิจกรรมร่วมกันเวลานาน ไม่สวมหน้ากากอนามัย จากการตรวจสอบพบ่า ความถี่ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมมีน้อย นี่คือตัวอย่างการดำเนินงานที่ทำให้เราาต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในเรื่อง COVID Free Setting ขอให้สถานประกอบการอื่น ๆ ดำเนินการด้วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

“การรับวัคซีนต้องครบทั้งผู้ให้ผู้รับบริการ สถานประกอบการและองค์กรต่าง ๆ ก็ยังต้องมีการสุ่มตรวจ ATK เป็นระยะทุกสัปดาห์ ต้องเข้มงวดการปรับสภาพแวดล้อมไม่ให้แออัด มีการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อย ๆ ทุก 1-2 ชั่วโมง และปัจจัยสำคัญผู้ที่อยู่ในหน่วยงานนั้น ๆ ควรจะต้องแยกของใช้ส่วนตัว ที่เราพบว่ามีการติดเชื้อก็เกิดจากการรับประทานอาหารร่วมกันกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน เป็นสิ่งที่ค้นพบและมีการรายงานเป็นระยะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราป้องกันได้” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

 

ศบค.ห่วงเทศกาลตรุษจีน กาง 5 มาตรการเข้ม

สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ซึ่งตรงกับช่วงวันที่ 28 ม.ค. – 3 ก.พ. จากการประชุมของศบค.ครั้งล่าสุด ได้เห็นชอบมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดช่วงเทศกาลโควิด โดยมีการวิเคราะห์สถานการณ์และความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนี้ 1.การรวมตัวของญาติพี่น้องเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ มีการพบปะสังสรรค์ 2.กิจกรรมการรวมตัวกันในหมู่ญาติมิตร โดยเฉพาะที่บ้าน 3.การเดินทางไปจับจ่ายซื้อของ ทั้งที่ตลาดและซูเปอร์มาร์เก็ต 4.มีการไปร้านอาหารเพื่อสังสรรค์ในครอบครัว และ 5.การไปไหว้เจ้าขอพรในศาลเจ้าต่าง ๆ

จะเห็นได้ว่าทั้งตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ศาสนกิจหรือศาลเจ้า จะเป็นสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก และถ้ามีความแออัด อากาศปิด จะเป็นที่ที่มีเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคได้ ดังนั้นมาตรการสำคัญต้องอยู่ภายใต้มาตรการ COVID Free Setting ให้ดำเนินการตามมาตรการ โดยมีการตรวจติดตามให้สถานที่เหล่านี้ทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด

“ถ้ามีการจัดงานที่มีเวทีต้องมีระยะห่างระหว่างเวที 5 เมตร ควบคุมจำนวนคนไม่แออัด 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร และมีการจัดจุดเข้าออกงานให้ชัดเจน ตั้งแอลกอฮอล์เจลให้ใช้อย่างสะดวก จัดพนักงานควบคุมการดำเนินงานด้วย” พญ.สุมนีกล่าว และว่า

“กระทรวงสาธารณสุขและศบค.เป็นห่วงไม่อยากให้เกิดคลัสเตอร์จากเทศกาลตรุษจีน ขอให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตด้วยความปลอดภัย เข้มงวดใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ ไม่อยู่ในสถานที่แออัดอากาศปิดทึบ แยกของใช้ส่วนตัว และสำคัญที่สุดต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับคนที่รับวัคซีนครบโดสแล้วและเกินกว่า 3 เดือน”

วัคซีนเด็ก 5-11 ปี ลอตแรกมา 26 ม.ค.นี้

ส่วนข้อสอบถามความคืบหน้าของวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ขวบ แพทย์หญิงสุมนี กล่าวว่า มีการอนุญาตวัคซีนไฟเซอร์เฉพาะในเด็กเท่านั้นและเป็นวัคซีนฝาสีส้ม ลอตแรกจะมาถึงวันที่ 26 ม.ค. นี้ และลอตนี้จะจัดสรรให้เด็กมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จะต้องได้รับการฉีดที่สถานพยาบาล สำหรับลอตถัดไปดำเนินการผ่านระบบการศึกษา จัดสรรให้เด็กอายุ 11-12 ปีก่อน หรือ เป็นเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้กับทุกจังหวัดตามสัดส่วนที่เสนอมาที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และหลังจากนั้นก็ลดหลั่นตามลำดับชั้นคือจาก ป.6 ก็เป็น ป.5 4 3 2 ต่อไป

“ขอเน้นย้ำว่าวัคซีนเด็ก ที่เป็นไฟเซอร์ เป็นวัคซีนฝาสีส้มเท่านั้น ต้องเน้นย้ำหน่วยบริการที่ฉีดวัคซีนให้กับเด็กด้วย และมีข้อปฏิวัติที่จะต้องแจ้งให้กับผู้ปกครอง หลังฉีดสัปดาห์แรก อย่าให้เด็ก ๆ ไปร่วมกิจกรรมที่มีการออกกำลังกายอย่างหนัก ให้งดก่อนในสัปดาห์แรก โดยเราพยายามให้ลดการเกิดผลข้างเคียง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบให้ได้น้อยที่สุด อันนี้เป็นข้อแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนในเด็ก” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวในตอนท้าย