“รับเหมารัฐ” 9 แสนล้านป่วน จี้ปลดล็อกค่า K-นำเข้าเหล็ก

รับเหมา

โควิด-สงครามรัสเซียยูเครนพ่นพิษ ผู้รับเหมาภาครัฐมูลค่างาน 9 แสนล้านป่วนหนัก สมาคมรับเหมาก่อสร้างร่อนหนังสือ 2 ฉบับขอรัฐบาลปลดล็อกเงื่อนไขสัญญาอุ้มรายกลาง-รายเล็ก ยกเลิกเพดานค่า K 4% ผ่อนผันกฎใช้เหล็กในประเทศ 90% ขอนำเข้าเหล็กชั่วคราว

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือสมาคมรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีสัดส่วน 8-9% ของจีดีพี หากคำนวณจีดีพีที่ 17 ล้านล้านบาท เท่ากับตลาดรับเหมาก่อสร้างมีมูลค่ารวม 1.36-1.53 ล้านล้านบาท/ปี

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นงานรับเหมาภาครัฐ 60% มูลค่าตลาด 8.16-9.18 แสนล้านบาท ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนวัสดุเหล็กและค่าขนส่งจากปัญหาน้ำมันแพงเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว และเป็นต้นทุนเกิดขึ้นภายหลังจากมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างไปแล้ว

ขอเร่งรัดจ่ายชดเชยค่า K

ดังนั้น ทางนางสาวลิซ่า ตระกูลพานิช นายกสมาคมก่อสร้างไทยจึงได้ทำหนังสือ 2 ฉบับ เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก มีรายละเอียด ดังนี้

1.หนังสือลงวันที่ 24 มีนาคม 2565 ส่งถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งรัดพิจารณาการคำนวณเงินชดเชยค่างานก่อสร้างหรือ ค่า K เนื่องจากก่อนหน้านี้ สมาคมก่อสร้างไทยทำหนังสือเรื่องเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2564 มาจาก 3 ปัจจัยกดดันที่มีผลต่อต้นทุนรับเหมา ได้แก่ 1.สถานการณ์โควิดที่ทำให้มีมาตรการควบคุมคนงานในไซต์ก่อสร้างแบบเข้มข้น 2.มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้าง 1 เดือนเต็มเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 3.ปัญหาต้นทุนไซต์ก่อสร้างแพงขึ้น อาทิ เหล็กเส้น, น้ำมัน, วัสดุก่อสร้างอื่น ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ล่าสุดมีสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีผลทำให้ต้นทุนน้ำมันแพงซึ่งมีผลต่อค่าขนส่ง ที่สำคัญมีผลต่อราคาวัสดุเหล็กมีความผันผวนมากขึ้นไปอีก โดยนับตั้งแต่ยุคโควิดในปี 2563 ถึงปัจจุบัน พบว่าราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 60%

ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้รับเหมาคู่สัญญาภาครัฐ หลายรายขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งอาจกระทบเป็นลูกโซ่ปัญหาการเลิกจ้างแรงงาน หรือการทิ้งงาน เป็นต้น

ยกเลิกเพดาน 4% ชั่วคราว

ทั้งนี้ สมาคมเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาค่า K 3 ข้อหลัก ดังนี้ 1.ขอให้พิจารณายกเลิกส่วนต่างค่าปรับราคา หรือค่า K ซึ่งมีเพดานสูงสุด 4% เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563-ธันวาคม 2565 โดยขอให้มีผลใช้กับโครงการที่กำลังดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ณ ปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงโครงการที่ยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังไม่ได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย โดยมาตรการนี้รัฐบาลเคยยกเลิกเป็นการชั่วคราวมาแล้วในอดีตเมื่อเดือนมิถุนายน 2551

2.ขอให้พิจารณาเร่งรัดมาตรการจ่ายเงินค่า K โดยมีกำหนดเวลาที่ชัดเจน เช่น จ่ายเงินชดเชยภายใน 60 วันนับจากวันที่ยื่นเบิกจ่าย เป็นต้น โดยสมาชิกสมาคมได้แจ้งว่าขณะนี้มีเงินตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก บางโครงการหน่วยงานรัฐค้างจ่ายนานเกิน 4 ปี ทำให้ผู้รับเหมาคู่สัญญามีปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างรุนแรง

3.ขอให้พิจารณาใช้ฐานดัชนีราคาในเดือนที่คิดราคากลางในการคำนวณค่า K แทนการใช้ดัชนีราคาในเดือนที่เปิดซองประกวดราคา เพื่อให้สะท้อนฐานดัชนีราคาที่ใช้ในการคิดราคากลางมากยิ่งขึ้น และเป็นธรรมแก่ภาครัฐและผู้รับเหมาคู่สัญญา

“ประเด็นค่า K หลักปฏิบัติคือถ้ามีต้นทุนใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากเซ็นสัญญารับงานก่อสร้างไปแล้ว สามารถคำนวณต้นทุนเพื่อเบิกค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่มีเงื่อนไขว่ารัฐจะจ่ายชดเชยค่า K ให้ก็ต่อเมื่อต้นทุนเพิ่มเกิน 4% เท่านั้น ในขณะที่การทำธุรกิจยุคโควิดมีวิกฤตเศรษฐกิจรุมเร้ามาจากรอบทิศทาง ดังนั้นจึงขอให้ยกเลิกเพดาน 4% เป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับชดเชยค่า K จากภาครัฐ และนำมาบรรเทาปัญหาขาดสภาพคล่องของกิจการ โดยขอให้พิจารณาค่า K ให้ถือเป็นเงินที่ผู้รับเหมาคู่สัญญาพึงได้”

ปลดล็อกกฎใช้เหล็กใน ปท. 90%

หนังสืออีกฉบับลงวันที่ 24 มีนาคม 2565 เช่นเดียวกัน ส่งถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอผ่อนผันข้อกำหนดในการใช้เหล็กเส้นจากผู้ผลิตในประเทศสัดส่วน 90% โดยเสนอขอให้ผ่อนผันเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565-31 ธันวาคม 2566

สาระสำคัญ สภาพปัญหามาจากการรับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐนั้น ทางคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้หน่วยงานรัฐต้องกำหนดรายละเอียดและกำหนดให้คู่สัญญาต้องใช้วัสดุหรือครุภัณฑ์ที่จะใช้ในงานก่อสร้างจากผู้ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 60% ของมูลค่าพัสดุที่จะใช้ในงานก่อสร้างตามสัญญา โดยเริ่มจากวัสดุเหล็กก่อน และกำหนดให้มีสัดส่วนการใช้เหล็กจากผู้ผลิตในประเทศสัดส่วน 90%

ปรากฏว่ายุคโควิด (2563-ปัจจุบัน) สมาคมก่อสร้างไทยได้รับข้อร้องเรียนจากสมาชิกผู้รับเหมาก่อสร้างงานภาครัฐเป็นจำนวนมาก ลักษณะปัญหาที่สอดคล้องกันมี 3 ด้าน คือ 1.ปัญหาเหล็กเส้นแพงขึ้น 60% 2.เกิดปัญหาภาวะขาดแคลนเหล็กในประเทศ และ 3.ไม่สามารถหาซื้อเหล็กได้ เพราะร้านค้าไม่เสนอราคาเนื่องจากไม่สามารถหาเหล็กมาส่งมอบได้

ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบในการดำเนินงานก่อสร้าง ทำให้งานล่าช้า การวางแผนก่อสร้างไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และกระทบหนักไปถึงทำให้ไม่สามารถเบิกค่างวดงานก่อสร้างได้

อุ้มรับเหมารายกลาง-เล็ก

“ประเด็นคู่สัญญาภาครัฐมีข้อกำหนดที่เรียกว่า MIT-Made in Thailand เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าในประเทศ เรื่องนี้เราเห็นด้วยอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของไซต์ก่อสร้างต้องบอกว่ามีเหตุการณ์พิเศษ โดยเฉพาะวัสดุเหล็กก่อสร้างในประเทศมีปัญหาซ้อนปัญหา กล่าวคือนอกจากขาดแคลนแล้ว ยังมีราคาแพงตามต้นทุนน้ำมันกับต้นทุนสงครามที่รับผลกระทบมาเป็นทอด ๆ

ทางเลือกของผู้รับเหมาคู่สัญญาสามารถใช้เหล็กนำเข้าที่มีต้นทุนถูกกว่า ซึ่งเป็นการขอผ่อนผันกฎเหล็กในประเทศ 90% ชั่วคราว จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาปกติ เพื่อให้ผู้รับเหมาคู่สัญญากับรัฐ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็กสามารถรักษาการจ้างงานโดยไม่ต้องปิดกิจการ”

นายปิยะดิษฐ์กล่าวสรุปตอนท้ายว่า ทั้งปัญหาค่า K ที่ค้างดำเนินการและขอปลดล็อกการใช้เหล็กในประเทศ 90% เป็นการชั่วคราวนั้น อยากขอความสนับสนุนให้รัฐพิจารณาช่วยเหลือภายในเดือนพฤษภาคม หรือไม่เกินมิถุนายน 2565 นี้ เพื่อให้การนำไปสู่ภาคปฏิบัติมีความคล่องตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2565 หรือในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565

“ข้อเดือดร้อนของผู้รับเหมาคู่สัญญารัฐ เหมือนกับเรากำลังจมน้ำอยู่ไกล ๆ และร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล ถ้าท่านโยนห่วงยางเพื่อช่วยคนจมน้ำที่อยู่ใกล้ ๆ ไปแล้ว ขอให้พิจารณาโยนห่วงยางให้ไกลออกไปอีก เพื่อให้ความช่วยเหลือได้มาถึงพวกเราด้วยครับ”