ฟื้นคดีโฮปเวลล์จากหลุม “คมนาคม” ยืนยันรักษาผลประโยชน์ชาติ

โฮปเวลล์

ผู้บริหารโฮปเวลล์ ตั้งโต๊ะแถลงจี้กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. หยุดใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมหน่วงเหนี่ยวการคืนเงินกว่าหมื่นล้านบาท ด้านกระทรวงคมนาคมสวนกลับ ยืนยันใช้สิทธิตามหลักนิติธรรมและเพื่อรักษาผลประโยชน์ชาติบ้านเมือง

วันที่ 21 มิถุนายน 2565 นายคอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัททวงถามความเป็นธรรมจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งเคยเป็นคู่สัญญาในสัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) มูลค่า 80,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นับจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท.ได้บอกเลิกสัญญาเมื่อปี 2541 และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ โดยขอให้คณะอนุญาโตตุลาการ มีคำวินิจฉัยให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายคือ ร.ฟ.ท. และบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด คืนสู่สถานะเดิม พร้อมกับคืนเงินตอบแทน และเงินลงทุนที่ได้ลงทุนไปแล้ว

ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดตามที่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ร้องขอออกมาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 แต่ทั้งกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. กลับยังมิได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

“สาระสำคัญในคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 ระบุให้คืนสถานะเดิมแก่คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย และให้ ร.ฟ.ท.คืนเงินตอบแทน เงินลงทุน รวมทั้งหนังสือค้ำประกันสัญญาสัมปทานและค่าธรรมเนียมแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี”

นายเวียร์กล่าวว่า นับจากบัดนั้น กระทั่งทุกวันนี้ ทั้งกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ยังมิได้ดำเนินการใด ๆ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ทั้งที่เป็นคำวินิจฉัยที่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งได้มีการลงนามร่วมกันตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2533

และทั้งกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ยังพยายามใช้กลไกทางกฎหมาย ประวิงการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ รวมถึงความพยายามทำให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโมฆะหรือสิ้นสภาพ

“ความพยายามของกระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. มุ่งหวังเพียงเพื่อจะไม่ต้องคืนเงินให้แก่โฮปเวลล์” นายคอลลินกล่าว

ด้านแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า สำหรับกรณีโฮปเวลล์ เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2562 องค์กรฝ่ายบริหาร รวมทั้งคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการตรวจสอบโครงการโดยละเอียดปรากฏว่ามีความผิดปกติในประเด็นต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการ ขั้นตอนการทำสัญญา ขั้นตอนการบริหารสัญญา ขั้นตอนการบอกเลิกสัญญา รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น

ดังนั้น หากกระทรวงคมนาคม  และ ร.ฟ.ท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยมิได้ใช้สิทธิตามกระบวนการของกฎหมาย ก็ย่อมถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน

ในกรณีที่ กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อันเนื่องมาจากเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2564 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2564 ว่ามติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

กรณีเช่นนี้จึงถือได้ว่ามีข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ อันทำให้ผลแห่งคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 ขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

จากเหตุที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า กระทรวงคมนาคม และ ร.ฟ.ท. ได้ดำเนินการในกรณีโฮปเวลล์ โดยเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม รวมทั้งยึดมั่นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชน ทั้งนี้ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว