ชัชชาติ หารือภาคีเครือข่ายดันบริหารจัดการขยะต้นทาง

กรุงเทพมหานครหารือภาคีเครือข่ายร่วมร่างแผนจัดการขยะที่ต้นทางในพื้นที่ กทม. เริ่มต้นสร้างความตระหนักรู้ในห้องเรียน เพื่อความยั่งยืนในอนาคต

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังหารือถึงร่างแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบจัดการมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดของ กทม. ซึ่ง ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กลุ่มวิชาการ/ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม สตาร์ตอัพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน นำเสนอ ว่า โครงการนี้ริเริ่มตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ในการเชิญภาคเอกชนมาร่วมกันดูแลขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นโครงการที่ดีและขอรับมาทำต่อ

ปัญหาเกิดตั้งแต่การแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง หลายครั้งที่เอกชนไม่ไว้กรุงเทพมหานคร เมื่อบอกให้แยกขยะกรุงเทพมหานครก็จะเอามารวมกัน วันนี้ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่มีการหารือกับ 30 องค์กร การจัดการขยะที่จะให้ได้ผลทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ไม่มีทางที่ภาคเอกชนหรือกรุงเทพมหานครเพียงอย่างเดียวจะแก้ปัญหาได้

การประชุมครั้งนี้เครือข่ายได้หารือแผนและรายละเอียดหลายส่วน หลักใหญ่ที่ต้องทำ คือ

1.กรุงเทพมหานครและเอกชนเป็นเนื้อเดียวกันในการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพมหานครเพื่อให้เกิดการดูแลที่ยั่งยืนในอนาคต

2.ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การแยกขยะอินทรีย์ออก หรือขยะเปียกออกจากขยะแห้ง จะทำให้ขยะที่เหลือมีมูลค่า สามารถนำมา Recycle ได้ง่าย ซึ่งต้องร่วมกันทั้งระบบ กทม.ต้องมีระบบขนถ่ายและการจัดเก็บที่เหมาะสมด้วย แนวคิดจะนำร่องในบางพื้นที่ หรือบางโซนก่อน เพื่อทดสอบระบบและขยายผลต่อไป

3.ลดการกำเนินขยะที่ต้นทาง โดยให้ความรู้เกี่ยวกับการ Reduce Reuse Recycle เพื่อให้เกิดการนำมาทำอย่างเป็นรูปธรรม

4.ข้อมูลความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญ การจัดการขยะที่ต้นทาง และปลายทางเป็นอย่างไร กรุงเทพมหานครต้องเปิดเผย

เพื่อให้ประชาชนทราบว่ากระบวนการทั้งระบบเป็นอย่างไร งบประมาณ ต้นทุน จำนวนขยะ ซึ่งหากเรามีข้อมูลที่ชัดเจน ทุกคนจะเห็นโจทย์ และสามารถหาคำตอบทั้งระบบร่วมกัน เครือข่ายจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบตามรายละเอียดของ Action Plan เพื่อให้ผลการชัดเจน

“รายละเอียดหลายส่วนสามารถเริ่มได้เลย ตั้งแต่การให้ความรู้ จัดเป็นหลักสูตรที่อยู่ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หรืออาจจะเริ่มจากหน่วยงานในกรุงเทพมหานคร ก่อน ทั้งการลดขยะ แยกขยะ การนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ย หลายโครงการไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่ที่ผ่านมาเราเน้นที่ปลายทางมาก ทั้งการฝังกลบหรือการเผา

แต่พอเป็นต้นทางไม่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการนำกลับไปใช้ใหม่ ครั้งนี้ถือเป็นมิติที่ดี ถ้าเอกชนไม่ร่วมมือกับเราไม่มีทางสำเร็จได้ หรือไม่ไว้ใจกรุงเทพมหานคร เมื่อแยกขยะแล้ว กรุงเทพมหานครจะนำไปร่วมอีก ภาคเอกชนก็จะไม่ทำ ที่ผ่านมาเราใช้เงินจำนวนมากในการบริหารจัดการขยะ และคำตอบปัจจุบันยังไม่ยั่งยืน ความร่วมมือจะทำให้ทุกอย่างยั่งยืนมากขึ้น” ผู้ว่าฯชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ภายหลังการหารือ โครงการมือวิเศษกรุงเทพได้ส่งมอบชุดสะท้อนแสงเพื่อความปลอดภัยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งมอบต่อให้พนักงานรักษาความสะอาด นำร่อง 100 ชุด โดยเป็นชุดที่ผลิตจากกระบวนการรีไซเคิลขวดพลาสติก